ครม.เศรษฐกิจ คลอดแพคเกจ 7 ด้าน เร่งรัดการลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันนี้ (6 ก.ย.62) เห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการ ย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package 7 ด้าน ดังนี้
           

1. ด้านสิทธิประโยชน์ ให้บีโอไอกำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563
       

    2. ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการของหน่วยงาน ให้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุน ในลักษณะ One Stop Service โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุน รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สามารถอนุมัติโครงการในกลุ่มกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกขนาดการลงทุนเพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานโดยเร็ว
       

    3. ด้านบุคลากร ให้กำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการ           นำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2562 – 2563 รวมทั้งให้มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ ระหว่างปี 2562 – 2563
 

นอกจากนี้ ในกรณีของโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมและยังมีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้อยู่   บีโอไอจะอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นร้อยละ 200 รวมทั้งให้บีโอไอและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันนำเสนอแนวทางและรูปแบบการนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ มาใช้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง
       

    4. ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ยังขอให้บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมที่ดิน เป็นต้น รวมทั้งให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญสูง

         

  5. มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสม              เพื่อรองรับการลง

ทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น
            6. ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปผลการศึกษาและกระบวนการต่างๆให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้น                 การเจรจาความตกลงการค้าไทย–อียู และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ภายในปี 2562 รวมทั้งมอบให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณแก่กระทรวงพาณิชย์ สำหรับกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย
         

  และ 7. ให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2562 – 2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย
           

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ในด้านการชักจูงการลงทุนนั้น บีโอไอ จะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อจัดทีมบูรณาการโรดโชว์และทำการตลาดเชิงรุก โดยเน้นชักจูงนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เป็นต้น 
         

  “ประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบาย New Southern Policy ของเกาหลีใต้  Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน  ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย นอกจากนั้น ยังมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม ACMECS หรือ CLMVT การออกมาตรการ Thailand Plus ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการดึงดูดการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น” นางสาวดวงใจ กล่าว