ยกระดับ OTOP ชุมชนมอญเสากระโดง

รศ.ดร.กิตติ  บุญเลิศนิรันดร์  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เปิดเผยถึงทิศทางการทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยว่า ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ของทำงานภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มงานนวัตกรรมการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการสนับสนุนของสำนักงานงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นปีที่สอง ซึ่งทำให้มีการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทุกชิ้นภายใต้โครงการนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากช่วงก่อนปี 2558 ที่มีการใช้ประโยชน์จริง เพียง 18 เปอร์เซ็นต์”

จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ในปี 2561ที่ผ่านมา  มทร.สุวรรณภูมิ ได้ขยายกรอบงานวิจัยเชิงพื้นที่ มาสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP เมืองเก่า ภายใต้ชื่อโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บนฐานศักยภาพ ทรัพยากรชุมชนและภูมิปัญญาพื้นถิ่น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว.

“ปัญหาของกลุ่มผู้ผลิต OTOP ทั่วประเทศ คือรายได้ส่วนใหญ่ มีเหลือไปถึงผู้ผลิตต้นทาง เช่น ตัวเกษตรกร หรือกลุ่มแปรรูปน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีจุดที่ต้องแก้ไขคือ ความโดดเด่น หรือจุดต่างให้กับสินค้าของตนเอง  ซึ่ง มทร.สุวรรณภูมิมองว่า จุดขายของสินค้า OTOP เมืองเก่าอยุธยาคือการสอดแทรกวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่สืบต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน เข้าไปในตัวสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ  โดยภายใต้โครงการนี้ มทร.สุวรรณภูมิซึ่งเป็นมีความโดดเด่นเรื่องวิชาชีพและเทคโนโลยี จึงใช้ศักยภาพของเราทำงานร่วมกับชุมชนมอญบ้านเสากระโดง ซึ่งเป็นชุมชนมอญเก่า ที่ยังมีความโดดเด่นทั้งในด้านวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม และทำงานวิจัยด้วยกระบวนการวิธีที่เรียกว่าการวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งในชุดโครงการโอทอปนั้น ประกอบไปด้วย 5 โครงการย่อย ได้แก่การศึกษาอัตลักษณ์ทุนทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์มอญเพื่อหนุนเสริมศักยภาพการท่องเที่ยว โครงการสร้างคุณค่าและมูลคาเพิ่มของอาหารชาติพันธุ์มอญจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ไม่ใช่อาหารชาติพันธุ์มอญจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการบูรณาการอัตลักษณ์ชาติพันธ์มอญสู่การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและโครงการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการวิจัย กรณีศึกษาชุมชนมอญบ้านเสากระโดง และจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัย ในช่วงที่ผ่านมา  ตอนนี้เราสามารถหา “จุดร่วมของความเป็นมอญ” ได้ในหลายแง่มุม และขณะเดียวกันเราก็พบ “จุดที่เป็นความต่างของชุมชนมอญเสากระโดง กับชุมชนมอญในพื้นที่อื่นๆ ในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องความเชื่อ ประเพณี รวมถึงอาหารการกิน ซึ่งสุดท้ายแล้วคุณค่าและอัตลักษณ์ต่างๆ จะถูกเชื่อมโยงบูรณาการให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชขนเสากระโดงและชุมชนใกล้เคียง และสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือนักวิจัยจะต้องทำวิจัยให้เสร็จภายในอีก 5 เดือนข้างหน้า กับอีก 2 เดือนที่จะต้องนำงานวิจัยนี้ไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ นั่นคือ จะต้องเกิดรูปธรรมขึ้นอย่างแน่นอนสำหรับงานวิจัยประเภทนี้”

 

            

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.สกสว. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย กล่าวว่า เป้าหมายการให้ทุนนี้ซึ่งอยู่ภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดด้วยกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ประชารัฐ เป้าหมายคือทำให้ข้อมูลโครงสร้างข้อมูลความรู้ เอาข้อมูลความรู้จากงานวิชาการไปสู่การพัฒนาจังหวัด โจทย์จังหวัดมีหลายมิติ ทั้งมิติเกษตร การส่งเสริมคุณภาพชีวิต ล่าสุดมทร.ทำเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยผ่าน Growth Engine อย่าง OTOP ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรผลิตเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้สำหรับประเทศเฉพาะ  ปี2562 (ซึ่งยังไม่สิ้นปี) สามารถสร้างรายได้รวมกันทั่วประเทศมากกว่า  2 แสนล้าน  ซึ่งเป็นปีแรกที่ตัวเลขรายได้เลยหลักแสนล้านปลายๆ ขึ้นมา   แต่กลับพบว่าผู้ผลิตสินค้าต้นทางมีรายได้ต่ำ ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วรายได้ที่เกิดขึ้นไปกระจุกตัวที่ไหน ทำอย่างไรให้ เงินเหล่านี้ลงไปถึงคนในภาคการผลิตต้นทางให้มากที่สุด ซึ่งงานวิจัยของ มทร.สุวรรณภูมิ เป็น 1 ใน 8 ของชุดโครงการภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดด้วยกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ประชารัฐ  ที่ สกสว. เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย

“มทร.สุวรรณภูมิ เป็น มหาวิทยาลัยเดียวที่เลือกทำงานวิจัย กับสินค้าประเภทบริการเพื่อการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ มทร.ทั้ง 8 แห่งจะต้องทำก็คือ การกำหนดประเด็นของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เป็นผลกระทบหลัก ของจังหวัด และเข้าไปทำการศึกษาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ก่อนจะใช้ความรู้และนวัตกรรมไปทำการยกขึ้นสร้างป็นห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain) ที่จะทำให้เกิดรายได้มากขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญรายได้นั้นจะต้องถึงมือของผู้ผลิตต้นทางอย่างเป็นธรรมด้วย ซึ่ง มทร. ที่ร่วมโครงการต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า มูลค่าเพิ่มนี้ตกไปอยู่กับพี่น้องประชาชนต้นทางจริง คือพี่น้องชุมชนเรา บ้านเรา ต้องไม่กระจุกตัวอยู่ที่ที่ผู้ประกอบการหรือผู้ค้าสินค้า บางประเภทเท่านั้น ซึ่งทางจังหวัดรับทราบแล้วและอยากจะให้งานวิจัยที่มทร.ทำเข้าไปสู่แผนพัฒนาจังหวัดเพื่อให้เกิดมรรคผลกับประชาชนโดยรวม”