เมืองโบราณเหลียงจู่ นครหางโจว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก

  คณะกรรมการบริหารการจัดการเขตเมืองโบราณเหลียงจู่ นครหางโจว เปิดเผยว่า ซากปรักหักพังเมืองโบราณเหลียงจู่ของจีน ซึ่งตั้งอยู่ในนครหางโจวทางตะวันออกของจีน ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

          การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจีนแห่งนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู เมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน เนื่องจากสถานที่แห่งนี้แสดงถึงอารยธรรมจีนอันยาวนานกว่า 5,000 ปี ในฐานะมรดกที่แท้จริงและไม่โดนทำลาย

  การขึ้นทะเบียนเมืองโบราณเหลียงจู่ ทำให้จีนมีมรดกโลกรวมแล้ว 55 แห่ง และยังเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 3 ของนครหางโจว ถัดจากทะเลสาบตะวันตก และคลองใหญ่ต้าหยุนเหอ

 คณะกรรมการมรดกโลก เปิดเผยว่า แหล่งมรดกแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานของการมีอยู่ของดินแดนที่มีระบบความคิดความเชื่ออันเป็นปึกแผ่น ตลอดจนมีการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรมการปลูกข้าวในยุคปลายหินใหม่ของจีน รวมถึงคุณูปการอันโดดเด่นต่อแหล่งกำเนิดอารยธรรมจีนบริเวณแม่น้ำแยงซี

ซากปรักหักพังเมืองโบราณเหลียงจู่ ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาเทียนมู่ บนที่ราบลุ่มที่มีแม่น้ำไหลผ่าน และครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอำนาจและความเชื่อของดินแดนในช่วงยุคแรกรอบบริเวณทะเลสาบไท่หู

เมื่อปี 2479 นาย Shi Xingeng นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ทะเลสาบตะวันตก ได้ทำการสำรวจและขุดค้นที่เมืองเหลียงจู่ เขตชานเมืองของนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง โดยเขาค้นพบแหล่งโบราณสถานยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง เมืองโบราณวัฒนธรรมเหลียงจู่จึงได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี 2502
 นับตั้งแต่ช่วงปี 2513 ซากปรักหักพังเมืองโบราณเหลียงจู่ถูกขุดค้น วิจัย และอนุรักษ์ ผ่านความพยายามด้านโบราณคดีที่หลากหลายในมณฑลเจียงซู เซี่ยงไฮ้ และเจ้อเจียง ซึ่งเพิ่มคุณค่าให้กับแหล่งวัฒนธรรมเหลียงจู่ ในแง่อายุวัตถุ รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน โครงสร้างระบบ ความแตกต่างทางลำดับชั้น ความเชื่อทางจิตวิญญาณ ระบบมารยาททางสังคม และกระบวนการด้านอารยธรรม ดังนั้น ในการค้นพบเมืองเหลียงจู่ เมืองโบราณยุคจากก่อนประวัติศาสตร์ที่สาบสูญมานานกว่า 4,000 ปี กลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่อปี 2550

เมื่อปี 2558 มีการประกาศการค้นพบโครงการน้ำที่เมืองโบราณเหลียงจู่ พร้อมด้วยเขื่อนกั้นนำ 11 แห่ง ซึ่งเป็นระบบน้ำขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมาในประเทศจีน และยังเป็นหนึ่งในระบบเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซากปรักหักพังและเมืองโบราณเหลียงจู่เป็นศูนย์กลางของแหล่งอารยธรรมเหลียงจู่ โดยมีประเภทของซากปรักหักพังมากมายและโครงสร้างเขตพื้นที่เองก็สมบูรณ์ ซึ่งเผยให้เห็นถึงลักษณะพื้นฐานของแหล่งกำเนิดอารยธรรมจีน พร้อมกับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญและสมบูรณ์ที่สุดของอารยธรรมจีนที่มีอายุกว่า 5,000 ปี เมืองโบราณเหลียงจู่ ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับอารยธรรมอียิปต์โบราณและสุเมเรียน เป็นสิ่งที่พบเจอได้ยากในเขตพื้นที่ที่มีความคล้ายกัน ทั้งในแง่ของขนาดและวัตถุ ดังนั้น จึงเหมาะสมแล้วที่จะเรียกว่า "เมืองแห่งแรกของจีน"

Colin Renfrew ศาสตราจารย์สาขาโบราณคดีที่เกษียณอายุงานจาก University of Cambridge และนักวิชาการประจำ British Academy กล่าวว่า "การค้นพบจากช่วงยุคหินใหม่ของจีนนั้นไม่ค่อยมีผู้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร โดยกงและไบที่ถูกขุดขึ้นมาจากโบราณสถานเหลียงจู่แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของความเชื่อในดินแดนนี้ ความสลับซับซ้อนของสังคมที่เมืองโบราณเหลียงจู่เทียบเท่าได้กับความซับซ้อนของประเทศ"

 ซากปรักหักพังทางโบราณคดีของเมืองโบราณเหลียงจู่ นำเสนอยุคหินใหม่ของจีนที่ไม่มีใครคาดคิดให้แก่โลก ตลอดจนบอกเล่าอารยธรรมเมื่อช่วง 5,000 ปีก่อน และเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้แก่จีนและทั่วโลก
 ที่มา: คณะกรรมการบริหารการจัดการเขตเมืองโบราณเหลียงจู่ นครหางโจว