“3 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป”

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “3 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,277 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทบาทของ ส.ส. ในช่วงที่ผ่านมา 3 เดือนหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค  สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

 จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาทของ ส.ส. ในช่วงที่ผ่านมา 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.44 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่มัวแต่ต่อสู้กันเพื่อแย่งตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรี รองลงมา ร้อยละ 35.79 ระบุว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. หายหน้าไปเลย ร้อยละ 34.30 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิม ๆ เช่น ด่ากันไปมา และชอบอ้างประชาชน ร้อยละ 31.95 ระบุว่า ส.ส. จากพรรคที่จะเป็นรัฐบาล เอาแต่จับกลุ่มต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 16.29 ระบุว่า ส.ส. จากพรรคที่จะเป็นฝ่ายค้าน ใช้เป็นแต่วาทกรรมเพื่อล้มรัฐบาล ร้อยละ 9.16 ระบุว่า ส.ส. ที่เลือกไปขยันลงพื้นที่พบประชาชนร้อยละ 8.69 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภามีความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อประชาชน ร้อยละ 8.30 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาทใหม่ในการเป็นมืออาชีพในการทำงานเพื่อประชาชน และร้อยละ 5.48 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

  สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อ ส.ส. ที่ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล ว่าจะสามารถผลักดันนโยบายและทำงานเพื่อประชาชนได้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.70 ระบุว่า ได้ เพราะ จะสามารถทำงานตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน และเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน รองลงมา ร้อยละ 35.00 ระบุว่า ไม่ได้ เพราะ จะไม่สามารถทำตามนโนบายที่สัญญาไว้กับประชาชน และในขณะที่ ส.ส. บางคนไม่มีความรู้ ความสามารถในการผลักดันนโยบาย  และร้อยละ 12.30 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. หรือ พรรคการเมืองเดิม หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.04 ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมืองเดิมที่เคยเลือก รองลงมา ร้อยละ 21.22 ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมืองอื่น ร้อยละ 5.01 ระบุว่า ไปเลือก แต่ไม่ลงคะแนนให้ใคร (Vote No) ร้อยละ 2.74 ระบุว่า    ไม่ไปลงคะแนน ร้อยละ 2.51 ระบุว่า อื่น ๆ ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูนโยบายของพรรคก่อน ดูว่า ส.ส.ที่จะเลือกอยู่พรรคไหน และร้อยละ 9.48    ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ