มทร.ธัญบุรีวิจัยไผ่ปราจีนหวังแก้ปัญหาผู้ประกอบการต้นน้ำ OTOP

ภาพรวมตัวเลขรายได้จากการจำหน่าย สินค้า OTOP ทั่วประเทศในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 190,000 ล้านบาท แต่ในทางกลับกันผู้ผลิต ผู้ประกอบการต้นน้ำกลับสะท้อนว่าขายสินค้าไม่ได้ รายได้ตกต่ำ จึงเป็นคำถามเชิงยุทธศาสตร์ว่า...รายได้ OTOP ที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ของผู้ประกอบการต้นน้ำจริงหรือ ?

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) กล่าวถึงภาพรวมงานวิจัยโครงการงานวิจัยการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนางานวิจัยและการสนับสนุนชุดโครงการวิจัยที่มีผลกระทบสูง(Program based Research) ระหว่าง สกสว. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ว่า เศรษฐกิจฐานรากที่เป็น Growth Engines สำคัญของประเทศไทย มี 3 sector ได้แก่ 1.OTOP 2.SME และ 3.วิสาหกิจชุมชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยสินค้า OTOP มีผลประกอบการโดยรวมมากขึ้น ในทางกลับกันงานวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการต้นน้ำสะท้อนว่ารายได้ตกต่ำ ขายได้น้อย

จากโจทย์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกัน โดยโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถือเป็น 1 ใน 8 โครงการวิจัยที่ สกสว. ทำร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ในการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นๆ ในพื้นที่ศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแต่ละแห่ง โดยใช้นวัตกรรมสร้างผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่ “ห่วงโซ่คุณค่าใหม่” (New Value Chain) ที่นอกจากมีมูลค่ามากขึ้นแล้ว ยังต้องทำให้ “ต้นน้ำ” ทั้งตัวเกษตรกรและกลุ่มOTOP มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและมีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

ด้าน ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า มทร.ธัญบุรีได้จัดตั้งวิทยาเขตที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และเมื่อมีทุนวิจัยดังกล่าวเข้ามาจึงเน้นไปที่ การพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ของจังหวัด ซึ่งมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในเรื่องไผ่ พบว่า ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีมีเนื้อที่ปลูกไผ่ 21,998 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกจำนวน 2,678 ครัวเรือน พบไผ่ 18 สายพันธุ์ซึ่งไผ่ที่นิยมปลูกในพื้นที่มี 2 สายพันธุ์ คือ ไผ่ตงหม้อ และไผ่ตงศรีปราจีน

 “เรามีแนวคิดว่าทางจังหวัดควรเลือกไผ่ที่เป็นพระเอกมา 5 ชนิดแล้วเอาไผ่เหล่านี้มาทำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เพราะไผ่แต่ละชนิดมีสมบัติต่างกัน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกและผู้ใช้สามารถตัดสินใจเลือกไม้ไผ่ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมได้ เราไปคุยกับปราชญ์ เกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่ ทำให้เกิดโจทย์ชุดโครงการแล้วนำไปสู่การวางแผนเพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าโดยผ่านกระบวนวิจัย และจากผลการสำรวจชนิดผลิตภัณฑ์ OTOP ในจังหวัด ทางเราจึงเลือกมา 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นเกษตรอาหารและกลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แล้วนำผู้ประกอบการเหล่านี้มาทำ Workshop ร่วมกับนักวิจัยเพื่อให้เห็นภาพรวมในทิศทางเดียวกัน และนำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัย กลุ่มเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้า OTOP ที่นำไปสู่การยกระดับรายได้ของเกษตรกรต้นน้ำ”

ด้าน ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ในเรื่องโครงสร้างต้นทุนที่เกษตรกรได้น้อยนั้นเกิดขึ้นจากมูลค่าที่ถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆ ทำให้เรื่องMarketing เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งนอกจากเรื่องราคาแล้วยังหมายรวมไปถึงการคำนวณต้นทุน ที่ผู้ผลิตต้นทางต้องหาภาพรวม Position ของตลาดและคู่แข่งเพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งนักวิจัยต้องเข้ามาพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการด้วย

“การแข่งขันทางการตลาดเราต้องดูว่า Position ตลาดของเราว่าอยู่ตรงไหน คู่แข่งของเราคือใคร เพื่อนำไปสู่การกำหนดราคาของเราได้ถูกต้อง คือเราไม่ได้ไปแข่งกับแบรนด์ระดับโลก แต่เราต้องแข่งกับ


แบรนด์ที่สูสีกับเรา ซึ่งการตั้งราคาในที่นี้ต้องคิดเผื่อในเรื่องของ Marketing ด้วย เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์เราสามารถแข่งขันในตลาดได้”

 เช่นเดียวกับนายธนา ทิพย์เจริญ ผู้ประกอบการแปรรูปไม้ไผ่ บริษัท Thailand Bamboo กล่าวถึงการทำงานร่วมกับนักวิจัยว่า การพัฒนาสินค้า OTOP ต้องมีการวิจัยทุกมิติตั้งแต่การยกระดับตลาด การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาเครื่องจักร ตลอดจนการวิจัยสินค้าใหม่ๆบนฐานเทคโนโลยีชีวภาพ ของท้องถิ่นนั้นๆ

“มุมมองของการพัฒนานอกจากการส่งเสริมการตลาดหรือวิธีการผลิตที่ทันสมัยแล้ว ภาครัฐต้องพัฒนาทั้งระบบ Supply Chain และ Cluster ด้วย รวมถึงต้องมีการวิเคราะห์ถึงจุดดีจุดเด่นของท้องถิ่นนั้นๆเพราะบริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมามีการก๊อปปี้จากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่ง ยกตัวอย่างพื้นที่นี้ทำไม้ไผ่สวยดี พาคนไปดูงานแล้วก๊อปปี้แบบเดียวกัน วางขายใน OTOP เหมือนกัน ซึ่งถือว่าไม่มีการนำจุดเด่นของท้องที่ตัวเองไปปรับเปลี่ยน ทำให้สินค้าไม่เกิดการพัฒนา ซึ่งสุดท้ายทุกอย่างต้องมาจับที่งานวิจัยหาคำตอบแล้วพัฒนาต่อทั้งระบบ”

อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ OTOP ของไทยให้ยืนหนึ่งในเวทีโลก นอกจากการเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดแล้ว แน่นอนว่างานวิจัยที่เข้าถึงปัญหาได้ตรงจุดทุกมิติคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ OTOP เดินหน้าไปได้อย่างไม่สะดุด

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ