“บทเรียนและบทบาทพรรคประชาธิปัตย์”



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “บทเรียนและบทบาทพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทเรียนและบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

 จากการสำรวจเมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2562) พบว่า ประชาชน  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.83 ระบุว่า ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบ วิธีการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา ร้อยละ 18.00 ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่แย่งฐานคะแนนเสียงไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 17.05 ระบุว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์พูดเก่งอย่างเดียวแต่ปฏิบัติไม่เป็น ร้อยละ 15.31 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐแย่งฐานคะแนนเสียงไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 13.40 ระบุว่า ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบ ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 12.85 ระบุว่า ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบ วิธีการดำเนินงานทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 11.66 ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงที่ผิดพลาด ร้อยละ 11.58 ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ ร้อยละ 2.85 ระบุว่า ประชาชนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้จึงตัดสินใจสนับสนุนพรรคอื่นแทน ร้อยละ 2.46 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ถูกโกงการเลือกตั้ง และร้อยละ 6.98 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน นโยบายของพรรคไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และพรรคไม่มีผลงานที่ชัดเจน            

 ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกต่อบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.17 ระบุว่า พรรคฯ มีความแตกแยกมากเกินกว่าที่จะตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว รองลงมา ร้อยละ 21.97 ระบุว่า พรรคฯ เดินเกมทางการเมืองต่อรองเพื่อตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องการ ร้อยละ 17.61 ระบุว่า พรรคฯ แค่ชอบอ้างอุดมการณ์ของพรรค ร้อยละ 14.83 ระบุว่า พรรคฯ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค ร้อยละ 13.48 ระบุว่า การต่อรองทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของทุกพรรคการเมือง ร้อยละ 7.53 ระบุว่า พรรคไม่มีบทบาททางการเมืองที่ชัดเจน ร้อยละ 5.08 ระบุว่า พรรคฯ เดินเกมทางการเมืองต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ร้อยละ 4.76 ระบุว่า พรรคฯ ไม่มีเจ้าของที่ครอบงำพรรคจึงต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจทางการเมือง และร้อยละ 1.43 ระบุว่า พรรคฯ มีความเชี่ยวชาญเกมการเมืองในสภาเป็นอย่างมาก           

 เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.20 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.69 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.31 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 55.91 เป็นเพศชาย และร้อยละ 44.09 เป็นเพศหญิง 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ