“ตำรวจเรียกดูใบอนุญาตขับรถ จะทำอย่างไร”



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มี   อายุ 15 ปีขึ้นไป เรื่อง “ตำรวจเรียกดูใบอนุญาตขับรถ จะทำอย่างไร” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2562 กระจายทุกภูมิภาค     ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเรียกดูใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) ของตำรวจ การสำรวจอาศัย    การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling)           เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการมีใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.75 ระบุว่า มีใบอนุญาต ขับรถ (ใบขับขี่) ขณะที่ ร้อยละ 31.25 ระบุว่า ไม่มีใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่)

เมื่อถามผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) ว่าถ้าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูใบอนุญาตขับรถจะทำอย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.49    ระบุว่า ให้ดูใบอนุญาตขับรถ ตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอทันที รองลงมา ร้อยละ 10.93 ระบุว่า ถามถึงข้อหาที่ได้รับ ก่อนตัดสินใจว่าจะให้ดูใบอนุญาตขับรถ ตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอหรือไม่ ร้อยละ 0.34 ระบุว่า ถามถึงข้อหาที่ได้รับ แต่อย่างไรก็ไม่ให้ดูใบอนุญาตขับรถ และร้อยละ 0.12 ระบุว่า ไม่ให้ดูใบอนุญาตขับรถแน่นอน และให้ดูสำเนาใบอนุญาตขับรถ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

เมื่อถามถึงการเคยอ้างยศ/ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองหรือของผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจใบอนุญาตขับรถหรือถูกออกใบสั่งจากการกระทำผิดกฎจราจร พบว่า ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) ส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.61 ระบุว่า ไม่เคยอ้าง รองลงมา ร้อยละ 0.81 ระบุว่า เคยอ้าง และร้อยละ 0.58 ระบุว่า ไม่เคยถูกเรียกดูใบอนุญาตขับรถ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผู้ขับขี่ยานพาหนะ ที่อ้างยศ/ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองหรือของผู้อื่น    เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจใบอนุญาตขับรถหรือถูกออกใบสั่งจากการกระทำผิดกฎจราจร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.04 ระบุว่า      เป็นการใช้ยศ/ตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง/ผู้อื่น ในทางที่ผิด รองลงมา ร้อยละ 25.26 ระบุว่า เป็นเรื่องของการใช้ระบบพรรคพวก/เส้นสาย   ในทางที่ผิด ร้อยละ 17.11 ระบุว่า เป็นเรื่องธรรมดาปกติของสังคมไทยแต่ยอมรับไม่ได้ ร้อยละ 16.39 ระบุว่า เป็นการสร้างความลำบากใจในการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ ร้อยละ 6.31 ระบุว่า เป็นเรื่องธรรมดาปกติของสังคมไทยและยอมรับได้ ร้อยละ 4.56 ระบุว่า เป็นการใช้ยศ/ตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง/ผู้อื่น เพื่อขอความสะดวก ร้อยละ 4.24 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับคนในสังคม ร้อยละ 3.52 ระบุว่า ทุกคนต้องเคารพกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ร้อยละ 2.80 ระบุว่า เป็นแค่การขอความอะลุ่มอล่วยจากตำรวจ ร้อยละ 0.80  ระบุว่า เป็นเรื่องของการสร้างเครือข่ายเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในวันข้างหน้า และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ/ไม่แสดงความคิดเห็น   

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ