สมาคมเพื่อนชุมชน ชู “เกาะกก – บ้านฉาง” ต้นแบบเมืองน่าอยู่ สังคมยั่งยืน

หากพูดถึงจังหวัดระยอง หลายคนคงนึกถึงนิคมอุตสาหกรรม โรงงานขนาดใหญ่ และท่าเรือขนส่งสินค้า จากภาพลักษณ์ของภาคตะวันออกในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ แต่ในอีกมุมหนึ่งของระยอง ชุมชนในพื้นที่หลายแห่งยังคงดำรงชีวิตด้วยอาชีพเกษตรกร ทำนาข้าว ปลูกมันสำปะหลัง และพืชพรรณต่าง ๆ ใช้ชีวิตตามวิถีแห่งความพอเพียง ซึ่งชุมชนเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ดำรงอยู่ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเจริญก้าวหน้าไปไม่ด้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมเลย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อความก้าวหน้าเคียงคู่กันของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม จนถือเป็นต้นแบบชุมชนเชิงนิเวศที่สำคัญทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ

ชุมชนเกาะกก และชุมชนบ้านฉาง คือชุมชนเชิงนิเวศต้นแบบที่น่าสนใจในจังหวัดระยอง ซึ่งมีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขยะมูลฝอย พลังงาน และพื้นที่สีเขียวที่ดี บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างอาชีพ โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสมาคมเพื่อนชุมชน องค์กรซึ่งก่อตั้งขึ้นบนความร่วมมือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง “เมืองน่าอยู่ สังคมยั่งยืน”

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช นายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนสู่ชุมชนเชิงนิเวศต้นแบบ นอกจากการสร้างอาชีพแล้ว การดูแลสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสมาคมเพื่อนชุมชนร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ ทั้ง 6 ตำบล ได้แก่ เนินพระ บ้านฉาง ห้วยโป่ง มาบตาพุด ทับมา และมาบข่าพัฒนา หรือที่เรียกว่ามาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดปริมาณขยะ บำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการใช้พลังงานทดแทน ตามหลักยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน 7 ด้าน หรือ “กลยุทธ์ 6 ลด 6 เพิ่ม +1” จนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สมาคมเพื่อนชุมชนยึดเป็นแนวทางตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน 7 ด้าน ได้แก่ 1. สุขภาพ – ลดคนป่วย เพิ่มคนสุขภาพดี 2. ขยะ – ลดขยะอินทรีย์ เพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ 3. น้ำ – ลดน้ำทิ้ง เพิ่มน้ำดี 4. อากาศ – ลดคาร์บอน เพิ่มพื้นที่สีเขียว 5. พลังงาน– ลดใช้พลังงาน เพิ่มพลังงานทดแทน 6. เศรษฐกิจ – ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และ 7. ชุมชนแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี

นายอำนวย นามสนิท ประธานชุมชนเกาะกก ตำบลเนินพระ เผยว่า ชุมชนเกาะกกได้ร่วมงานกับสมาคมเพื่อนชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยเริ่มจากการทำโครงการสุขภาพในเชิงวิถีไทย ‘ลดความดัน ลดเบาหวาน ลดความเสี่ยง’ จากนั้นจึงต่อยอดมาทำวิสาหกิจชุมชน ซึ่งสมาคมเพื่อนชุมชนแนะนำให้เข้าร่วมโครงการธรรมศาสตร์โมเดล โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเข้ามาช่วยออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงแบ่งปันความรู้ให้กับคนในชุมชน จนในปัจจุบันชุมชนเกาะกกได้พัฒนาจนกลายเป็นชุมชนนิเวศต้นแบบประจำจังหวัดระยอง

“จริง ๆ เราทำวิสาหกิจกันมาอยู่แล้ว เพราะต้องการสร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชน เพียงแต่เมื่อก่อนทำไปตามที่คิดโดยไม่รู้หลักการ สมาคมเพื่อนชุมชนจึงชักชวนเข้าโครงการธรรมศาสตร์โมเดล มีน้อง ๆ จากธรรมศาสตร์เข้ามาช่วยดูแล ชวนคิดชวนทำ นำสินค้ามาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ผลิตภัณฑ์ไรซ์มี สแนคบาร์หมอนประคบสมุนไพรหอมเฮิร์บ และลูกประคบสมุนไพรแบบสดกับแบบแห้ง นอกจากนี้น้อง ๆ นักศึกษายังช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ โลโก้ และแนะนำเรื่องการตลาดอีกด้วย ซึ่งตอนนี้วิสาหกิจชุมชนสร้างยอดขายได้มากขึ้น อย่างข้าวสาร เดิมขายที่กิโลกรัมละ 75 บาท เมื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นกิโลกรัมละ 2,000 บาท เป็นที่มาของคำว่า “ข้าวโลละสองพัน ตันละสองล้าน” เป็นผลประกอบการจากการแปรรูป และผลพวงจากสมาคมเพื่อนชุมชน กับน้อง ๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาช่วยสร้างอาชีพให้คนในชุมชน และสร้างรายได้ที่มากขึ้น” นายอำนวย กล่าว


นายอำนวย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตั้งแต่สมาคมเพื่อนชุมชนเข้ามา ชุมชนเกาะกกมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลายด้าน อย่างแรกที่ได้อย่างแน่นอน คือ ความสามัคคี พอมีการร่วมมือกัน คนในชุมชนสุขภาพดีขึ้น รายได้ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดี ทุกคนดูแลตัวเอง ดูแลพื้นที่สีเขียวรอบตัวเองได้ โรงงานนำความรู้มาให้ ชุมชนก็เป็นผู้ลงมือทำ เราผสมผสานกับองค์ความรู้เดิมของชุมชนเข้าไปอีกก็ถือว่าประสบความสำเร็จ กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน และเป็นที่มาของการสร้างศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาในชุมชนเกาะกกอีกด้วย”

นอกจากชุมชนเกาะกกแล้ว อีกหนึ่งชุมชนซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่ประสบความสำเร็จ คือ อำเภอบ้านฉาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของอำเภอบ้านฉาง จ.ระยอง (ศพก. บ้านฉาง) ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเกษตรทั้งหมดของจังหวัดระยอง อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกมันสำปะหลังที่ครอบคลุมที่สุดในประเทศไทย เรียกว่าใครต้องการจะเรียนรู้เรื่องการปลูกมันสำปะหลังต้องมาที่นี่ที่เดียว

นายทองเจือ ภู่ห้อย ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรอำเภอบ้านฉาง จ.ระยอง (ศพก. บ้านฉาง)  กล่าวว่า “บ้านฉางเป็นอำเภอเล็ก ๆ มีแค่ 3 ตำบล แต่ปลูกมันสำปะหลังรวมกันกว่าสองหมื่นไร่ ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจของที่นี่ ส่วนศูนย์การเรียนรู้ฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ด้วยการทำเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ มีองค์ความรู้เรื่องการบำรุงสภาพดิน การทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักไล่แมลง ทำให้ผลผลิตดีขึ้น เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และลดการพึ่งพาสารเคมี ซึ่งนอกจากขายส่งแล้วยังได้นำมันสำปะหลังไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรอีกด้วย โดยเราได้รับความร่วมมือจากสมาคมเพื่อนชุมชน และน้อง ๆ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาช่วยในเรื่องการแปรรูป ยังมีกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จำกัด ที่ช่วยสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปมันสำปะหลังทอดกรอบตรา “Cassy Chips” ประสบความสำเร็จอย่างมาก”

เมื่อกล่าวถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม นายทองเจือให้ความเห็นว่า “จังหวัดระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นแหล่งรายได้ของประเทศ แต่รอบ ๆ โรงงานก็เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร ภาคอุตสาหกรรมกับภาคชุมชนจึงต้องร่วมมือกัน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ บ้านฉางของเราเป็น Smart City ต้นแบบของประเทศที่มีความเข้มแข็ง และกำลังพัฒนา มีสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคอื่น ๆ แต่ยังคงมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะเราร่วมมือกันอนุรักษ์น้ำ อนุรักษ์ป่า และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าหากทุกอย่างดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ ตนคิดว่าที่นี่จะเป็นเมืองน่าอยู่มาก ๆ ทั้งสะอาด สะดวก มีรายได้เข้ามา มีป่าล้อมรอบ สมคำว่า เมืองน่าอยู่ สังคมยั่งยืน เป็นอย่างยิ่ง ”