พาณิชย์ ชี้แจงมาตรการใช้น้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตัน ผลิตไฟฟ้า

กระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องคือมาตรการใช้น้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 มอบหน้าที่ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงพลังงานในการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จำนวน 160,000 ตัน และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับดูแลมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ (เฉพาะกิจ) เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการ โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานอนุกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานร่วมเป็นอนุกรรมการ กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีดำเนินการเพื่อเป็นกรอบแนวทางดำเนินมาตรการที่ชัดเจน รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. และกำกับดูแลการดำเนินการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์


ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กฟผ. รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบกิโลกรัมละ 18 บาท ณ ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยให้ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบต้องรับซื้อผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในราคากิโลกรัมละ 3.20 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด โดยในทางปฏิบัติคณะทำงานฯ ระดับภาคจะเป็นผู้ติดตามกำกับดูแลการดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไข กฟผ. ก็จะไม่จ่ายเงินค่าน้ำมันปาล์มดิบร้อยละ 10  ของค่าน้ำมันปาล์มดิบที่ส่งมอบ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะมีผลต่อเกษตรกรที่ขายผลปาล์มน้ำมันให้กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งในระยะแรกมีโรงงานสกัดฯ สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการน้อยราย จึงต้องขยายเวลารับสมัครถึง 5 ครั้ง จนถึงเดือนมีนาคม 2562


เนื่องจากน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ต้องทยอยขนส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกงซึ่งมีคลังเก็บได้ไม่มาก กฟผ. จึงรับน้ำมันได้เพียงวันละ 2,000 ตัน และรับได้เพียงวันเว้นวัน จึงมีผลให้ราคาตลาดไม่สามารถขยับขึ้นได้ เพราะยังมีน้ำมันในสต็อกของโรงสกัดฯ และปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่ออกมากกว่าปกติ กระทรวงพาณิชย์  จึงเสนอที่ประชุม กนป. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ให้ กฟผ. เพิ่มอัตราการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเดิมวันละ 1,000 ตัน เป็นวันละ 1,500 ตัน และให้ กฟผ. รับมอบน้ำมันปาล์มดิบตามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือทั้งหมดจัดเก็บที่คลังรับฝากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและฉะเชิงเทรา จากกำหนดเดิมในเดือนกรกฎาคม 2562 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เมษายน 2562 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินออกไปให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้วรวม 68,000 ตัน คงเหลืออีกจำนวน  92,000 ตัน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการขนส่งไปยังท่าเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง และการจัดเก็บรอในคลัง ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด




สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันปาล์มดิบและคลังจัดเก็บที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมี 2 รายคือ พี.เค.มารีน อ. เมือง และโกบอลอินเตอร์ อ. ดอนสัก กรมการค้าภายในได้สอบถามราคาค่าขนส่งปรากฎว่า บริษัท พี.เค.มารีนเสนอราคาหลังต่อรองแล้วถูกกว่าอีกบริษัทมาก และมีความพร้อมเพราะมีเรือขนส่งจำนวนมากกว่า ซึ่งราคาที่เกษตรกรได้รับที่ 3.20 บาท คำนวณจากการหักค่าขนส่งจากราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. ที่กิโลกรัมละ 18 บาท


ดังนั้น จะเห็นว่ากระบวนการทำงานของกระทรวงพาณิชย์คำนึงถึงความถูกต้องโปร่งใส และให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่มีไอ้โม่งในกระบวนการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ที่ได้รับผลประโยชน์แน่นอน


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนการทำงานด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม รวมทั้งมีการรณรงค์เรื่อง Zero Corruption ที่จริงจังต่อเนื่อง และมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดถือปฏิบัติและดำเนินการอย่างเคร่งครัด จึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจในการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ ปัจจุบัน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ กรณีของการนำเสนอข่าวว่ามีผู้ที่มีเจตนาไม่สุจริตแอบซ่อนเร้นรับผลประโยชน์จากนโยบาย/มาตรการของภาครัฐก็เช่นเดียวกัน หากทุกฝ่ายช่วยกันติดตามสอดส่องพฤติกรรมดังกล่าวและพบว่ามีเบาะแสที่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ควรแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกระบวนการเพื่อให้เกิดความถูกต้องต่อไป