ศาลฎีกาพิพากษาให้ข่าวของอินโฟเควสท์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ - สร้างบรรทัดฐานให้วงการสื่อมวลชนไทย

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว วินิจฉัยให้งานสร้างสรรค์ประเภทบทความ รายงานพิเศษ และบทสัมภาษณ์ของอินโฟเควสท์เป็นงานอันมีลิขลิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และตัดสินให้อินโฟเควสท์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดโดยการทำซ้ำงานและเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต  นับเป็นคดีแรกเกี่ยวกับการละเมิดงานข่าวที่ขึ้นถึงชั้นศาลฎีกา เป็นการยกระดับความสำคัญในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในวงการสื่อสารมวลชนไทย
 

นายชาลทอง ปัทมพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ผู้ให้บริการข่าวสารข้อมูลออนไลน์ชั้นนำในประเทศไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลทางเศรษฐกิจ การเงิน หุ้นและการลงทุนต่างๆ  เปิดเผยว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562 ในคดีหมายเลขดำที่ ทป.58/2558 คดีหมายเลขแดงที่ ทป.72/2559 ซึ่งอินโฟเควสท์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท บิสนิวส์ เอเอฟอี (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการบริษัทฯ เป็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์โดยมีการนำงานข่าวของอินโฟเควสท์ไปทำซ้ำและเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยอินโฟเควสท์ได้นำเสนองานในรูปแบบบทความ รายงานพิเศษ และบทสัมภาษณ์ จำนวน 135 ชิ้น เป็นหลักฐานในคดี
 

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า งานพิพาททั้ง 135 ชิ้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารที่นำเสนอเพียงข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงเท่านั้น  แต่เป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมีการศึกษา รวบรวมและคัดเลือกข้อมูลข่าว มีการจัดทำบทสัมภาษณ์ และผ่านกระบวนการวิเคราะห์ขึ้นด้วยความสามารถของผู้สร้างสรรค์เอง และงานนั้นมีการใช้ความวิริยะ อุตสาหะ สติปัญญา และแรงงานในระดับที่เหมาะสม  ตลอดจนมีการใช้วิจารณญาณจากประสบการณ์ในการวิเคราะห์ด้วยความคิดริเริ่มของผู้สร้างสรรค์เอง ศาลจึงวินิจฉัยให้ งานข่าวของอินโฟเควสท์ดังกล่าวเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และตัดสินให้อินโฟเควสท์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในงานพิพาทดังกล่าว


 

“คดีนี้เป็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารคดีแรกของประเทศไทยที่ขึ้นไปถึงชั้นศาลฎีกา  และมีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว
 

ที่ผ่านมา คนมักจะคิดว่า ข่าวเป็นเพียงข้อเท็จจริง ไม่มีลิขสิทธิ์ จึงเกิดการลอกข่าว แล้วนำไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลข่าวซึ่งเกิดขึ้นมากมาย   ผมเชื่อว่า คำพิพากษาของคดีนี้จะช่วยสร้างบรรทัดฐานเรื่องลิขสิทธิ์ในวงการข้อมูลข่าวสารของไทย  และจะช่วยกระตุ้นให้สื่อมวลชนได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิของตนเองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวของตนเอง
 

นอกจากนี้  คำพิพากษาคดีนี้ยังน่าจะส่งผลดีทำให้สำนักข่าวต่างประเทศระดับโลกต่างๆ ที่มาประกอบธุรกิจข้อมูลข่าวสารในไทยและมีงานสร้างสรรค์ข่าวในรูปแบบเดียวกันกับอินโฟเควสท์  ก็จะมีความเชื่อมั่นในกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย ว่าจะให้ความคุ้มครองงานข่าวของพวกเขาตามมาตรฐานสากลด้วย”  นายชาลทองกล่าว

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ