"รู้ภาวะกายก่อนจาก ก่อนพลัดพรากให้ได้ดูแล มิติแห่งการรักษา มิติแห่งการเยียวยา

เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือธรรมชาติของชีวิต แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องดูแลและบอกลากันก่อนหมดลมหายใจ และหน้าที่สำคัญของกลุ่มผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ต่างต้องเผชิญกับการดูแลร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและญาติเมื่อถึงช่วงเวลาที่ไม่สามารถยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ ดังนั้นศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน จึงให้ความสำคัญกับการเยียวยาใจด้วยธรรมะ น้อมนำธรรมะมาใช้ในงานบริการ โดยใช้การรักษาทางการแพทย์ร่วมกับการรักษาจิตวิญญาณด้วยธรรมะ ที่เรียกว่า “มิติแห่งการรักษา มิติแห่งการเยียวยา”

 

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน  มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์  และกลุ่มพระอาสาคิลานธรรมจึงได้จัดการอบรมหลักสูตร "เวชภาวนา คิลานธรรม" เมื่อวันที่ 13 - 15 มีนาคม 2562 โดยมีนายแพทย์สุรสิทธิ์ ตั้งสกุลวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน เป็นประธาน และได้ตั้งเป้าหมายของการเป็นโรงพยาบาลคุณธรรมเดินหน้าดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย พร้อมกับการน้อมนำธรรมะเข้ามาเยียวยาจิตใจ โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มพระภิกษุสงฆ์อาสาคิลานธรรม ที่เข้ามาช่วยดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะการรักษาขั้นสุดท้าย ซึ่งเข้ามาร่วมกันทำงานในศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน กว่า 10 ปีแล้ว

การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มคนทำงานกลุ่มนี้ได้รับความรู้เพิ่มเติมทั้งความรู้ด้านการแพทย์  สุขอนามัย  จิตวิทยา และการสื่อสาร  โดยมีวิทยากรประกอบด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน บรรยายเรื่องรู้ภาวะกายก่อนจาก ก่อนพลัดพรากได้ดูแล อาจารย์จรรยา จารโยภาส ผู้จัดการฝ่ายควบคุมโรคติดเชื้อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร ์ บรรยายเรื่องเชื่อมประสานใจอย่างไร้โรคา อาจารย์ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ ร่วมถอดบทเรียนด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา ผศ.พญ.กวิวัณณ์ วีรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรยายเรื่องรู้ระเบียบกติกา รักษาด้วยธรรม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต บรรยายเรื่องรู้ภาวะจิตเวช รู้ขอบเขตเยียวยาใจ พระครูเมธังกร (ปณต คุณวฑโฒ) และ รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการุณรักษ์ บรรยายเรื่องดูแลด้วยหัวใจ    ใส่ใจแบบองค์รวม

 

เพราะว่าการดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิตต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ใส่ใจในความต้องการของผู้ป่วยและคุณภาพชีวิต  ลดอาการเจ็บปวดทางร่างกาย  ดูแลจิตใจ ความเชื่อ และสิ่งที่ยังค้างคาในใจ  ดูแลให้มี physical activity ได้นานที่สุด  และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ภาวะสมองตาย หรือในทางการแพทย์การรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อไปคือต้องอาศัยกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและมีจิตวิทยาในการสื่อสารพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ ดังนั้นการปฏิบัติงานของกลุ่มคิลานธรรม เยียวยาใจด้วยธรรมะ จึงเป็นเสมือนที่พึ่งทางใจ คลี่คลายความกังวล และนำทางไปสู่ความสงบ

โดยศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน      มุ่งสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้ให้เป็นยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาล เพราะมิติแห่งการรักษาทางการแพทย์ ควรทำควบคู่ไปกับมิติแห่งการเยียวยาใจด้วยธรรมะ เป็นการสานต่อปณิธานของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ที่ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลชลประทาน หรือศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ในปัจจุบัน ที่จะให้เป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจกับประชาชน