ศธ.ยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษครั้งใหญ่ของประเทศ

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษครั้งใหญ่ของประเทศ ทดแทนของเดิมที่ใช้มาแล้วกว่า 10 ปี โดยคณะกรรมการ กพฐ.ให้ปรับปรุงการสอนสาระวิชาภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้นรวมถึงโปรแกรมห้องเรียนพิเศษ MEP-EP-IP ให้เป็นการเรียนแบบเข้มข้น และสอดคล้องในทิศทางเดียวกับการที่มหาวิทยาลัยรับตรงจากเด็กที่มีความรู้ความสามารถทางด้านภาษาเข้าไปเรียน International Program ในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งวางมาตรฐานหลักสูตรกลุ่มสาระภาษาอังกฤษและเกณฑ์ของครูผู้สอน รวมถึงผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระดับทุกประเภท

วันนี้ (8 มีนาคม 2562) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าที่ประชุม กพฐ. จะเสนอแนวทางการปรับปรุงการสอนสาระวิชาภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้น ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการการศึกษาพื้นฐานสู่สากล ซึ่งมีตัวแทนจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และสถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. รวมทั้งนายกสมาคมโรงเรียนเอกชน และนักวิชาการ ร่วมพิจารณา โดยจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาปรับการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษใน 3 หลักสูตร ดังนี้

1. หลักสูตรภาษาอังกฤษนานาชาติ International Program (IP) โดยใช้หลักสูตรที่มาจากต่างประเทศ จัดการเรียนการสอนโดยครูเจ้าของภาษา หรือครูที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด

2. หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น (Intensive English Program : IEP) โดยเน้นเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ต้องจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับ B2 สามารถสื่อสารเรียนรู้และทำงานในสภาพแวดล้อมหรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้ โรงเรียนสามารถเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

3. หลักสูตรยกระดับภาษาอังกฤษสำหรับทุกโรงเรียน (General English Program : GEP) เด็กต้องได้เรียนภาษาอังกฤษครบทุกทักษะ ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เน้นการสอนให้สื่อสารได้ ครูใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้จริง โดยนำครูจากโครงการ English Boot Camp ที่มีความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษ และกระจายอยู่ทั่วประเทศมาสอน โรงเรียนไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเด็กเพิ่ม

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษหลายโปรแกรม เช่น โปรแกรมนานาชาติ IP (Education Hub) จำนวน 19 แห่ง English Program (EP) ที่ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และ Mini English Program (MEP) ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษบางวิชา รวม 400 แห่ง

เพื่อให้มาตรฐานคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นไปตามแนวทาง IEP เห็นควรให้ สพฐ. แจ้งสถานศึกษาในสังกัดที่เปิดสอน EP และ MEP ทบทวนตัวเอง และวางแผนที่จะปรับการสอนกลุ่มสาระภาษาอังกฤษให้เข้มข้นระดับ IEP ต่อไป

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการการศึกษาพื้นฐานสู่สากลจะได้จัดทำคู่มือ English HANDBOOK เพื่อเป็นแนวทางให้กับโรงเรียน ซึ่งทุกอย่างจะอธิบายอยู่ในเอกสารดังกล่าว สำหรับโรงเรียนรอบใหม่หากมีความพร้อมสามารถใช้หลักสูตร IEP ได้เลย ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนกลุ่มสาระภาษาอังกฤษที่ปรับปรุงใหม่นี้ โรงเรียนเอกชนสามารถนำไปใช้ได้