อปท.จัดประชุมสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำเสีย กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รุ่นที่ 1

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำเสีย กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รุ่นที่ 1 โดยมีนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวต้อนรับ และมีนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี นายเอกพันธ์ อินทร์ใจเชื้อ นายกเทศมนตรีเมืองสุพรรณบุรี นายภูวนาท สุภาพเพชร ปลัดเทศบาลเมืองราชบุรี ปฏิบัติหน้าที่ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้รับผิดชอบระบบบำบัดน้ำเสียหรือสุขาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 17 แห่ง จาก 13 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุมองค์การจัดการน้ำเสีย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำเสีย กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”รุ่นที่ 1 ในวันนี้ เพราะทำให้ได้เห็นว่าท่านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบบำบัดน้ำเสีย รวมของ อปท. ทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และชะลอโครงการออกไป รวมถึงที่ยังไม่ได้มีการรับมอบ จำนวนทั้งหมด 105 แห่ง ซึ่งมี อปท. จำนวน 91 แห่ง เป็นเจ้าของ คิดเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวน อปท. ในประเทศไทยทั้งหมด 7,851 แห่ง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม นั่นคือ น้ำ เพราะน้ำคือชีวิต ในเรื่องของการดูแลรักษาความสะอาดของคูคลอง โดยท่านพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) บูรณาการดำเนินงานร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการจัดการปัญหาเรื่องน้ำเสีย รวมทั้ง จากที่องค์การจัดการน้ำเสีย ได้ดำเนินภารกิจในการให้บริการ รับบริหาร หรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสียทั้งในและนอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย โดยจัดให้มีโครงการรับบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียรวมของ อปท. มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555 เป็นต้นมา ได้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมของ อปท. จำนวน 26 แห่ง เข้าร่วมดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวแล้วด้วยนั้น ทาง สถ. และ อจน. จึงได้หารือถึงการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเพื่อให้การดำเนินงานบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของ อปท. มีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้กำหนดจัดการประชุมสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำเสีย กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูล แนวทางการดำเนินงานขององค์การจัดการน้ำเสีย ตามโครงการรับบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียรวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าของระบบบำบัดน้ำเสียรวม และที่ยังไม่ได้ร่วมดำเนินงานกับองค์การจัดการน้ำเสีย ให้ได้รับทราบ โดยการประชุมสัมมนา รุ่นที่ 1 กำหนดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคกลาง จำนวน 17 แห่ง ใน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดอุทัยธานี



ซึ่ง อปท. มีภารกิจในการจัดการปัญหามลพิษทางน้ำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 , พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งหนึ่งในกลไกที่สำคัญของการจัดการปัญหามลพิษทางน้ำ คือ ระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำทิ้งที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนดไว้ ดังนั้น การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่ อปท. รวมทั้ง การบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียรวม ซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว ให้สามารถเดินระบบได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของงบประมาณ ค่าใช้จ่ายแล้ว ยังต้องอาศัยความรู้ ความสามารถของบุคลากร ในการบริหารจัดการ รวมทั้งการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่ออีกว่า ทาง สถ. จะดำเนินการอำนวยความสะดวกให้กับ อปท. โดยการยกร่างเทศบัญญัติ / ข้อบังคับ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเสีย เพื่อให้ อปท. สามารถนำไปดำเนินการเสนอต่อสภา อปท. ต่อไปได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินภารกิจด้านจัดการน้ำเสีย ก็ขอให้ทุกท่านได้ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมใน 2 เรื่องหลักๆด้วย นั่นคือ เรื่องการบริหารจัดการขยะมูลฝอย และเรื่องการบริหารจัดการน้ำเสีย ที่ทั้ง 2 เรื่องนี้ เกี่ยวโยงกับเรื่องต่างๆ อีกมากมายในการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน และก็ต้องขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ช่วยร่วมมือกันขับเคลื่อนด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ได้มีการบริหารจัดการที่ดี สนับสนุนให้ อปท. ได้มีความรู้ความเข้าใจด้านการบำบัดน้ำเสีย ที่ต่อไปอาจจะต้องมีการเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆนี้ ต่อไป โดยต้องขอความอนุเคราะห์ทาง อจน. เป็นผู้ให้ความรู้และสร้างประสบการณ์ให้กับทาง อปท. ด้วยนั่นเอง