มท. เดินหน้าป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดเชิงรุก สั่ง 9 จว.นำร่อง ใช้ “กาฬสินธุ์โมเดล”

 (30 ม.ค.62) ที่กระทรวงมหาดไทย นายธนาคม จงจิระ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ให้ใช้รูปแบบ “กาฬสินธุ์โมเดล” ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขยายไปดำเนินการในจังหวัดอื่น และให้รีบดำเนินการในทุกมิติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้คัดเลือกจังหวัดนำร่อง 9 จังหวัด ประกอบด้วย สิงห์บุรี สระแก้ว ชัยภูมิ หนองบัวลำภู เชียงราย พิษณุโลก สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี และพัทลุง ให้นำรูปแบบ “กาฬสินธุ์โมเดล” ไปจัดทำเป็น “แผนจังหวัดนำร่อง จังหวัด... พ้นภัยยาเสพติด 2562”
      

 รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ต้องกำจัด Supply และขบวนการที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้หมดไป โดยเน้นการสกัดกั้นยาเสพติดทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด พร้อมทั้งพัฒนามาตรฐานกระบวนการบำบัดรักษาทุกระบบให้มีประสิทธิภาพและครบวงจร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการบำบัดรักษาเพื่อให้ผู้เสพกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีความสุข และได้รับการยอมรับจากสังคม โดยเพิ่มหลักสูตรเรื่องการฝึกอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัดตามความเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการอื่น ๆ อาทิ การกำหนดมาตรการเร่งรัดขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วนให้ห้วง 3 เดือน (พฤศจิกายน 2561 – มกราคม 2562) ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กำหนดให้พื้นที่ 526 ตำบล 288 อำเภอ ใน 63 จังหวัด ให้ความสำคัญกับการสกัดกั้นยาเสพติดและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เฉพาะ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน สถานบริการ เรือนจำ และแหล่งมั่วสุมต่าง ๆ เพื่อปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด 


         

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรูปแบบ “กาฬสินธุ์โมเดล” โดยกำหนดแผนให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะยาว ซึ่งมีประเด็นเน้นหนัก 6 เรื่อง ได้แก่ 1) การสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับเด็กและเยาวชน 2) การพัฒนาระบบการบำบัด การติดตาม ดูแลผู้ที่เข้ารับการบำบัด และให้ความช่วยเหลือทางด้านอาชีพ 3) การลดผลกระทบความเดือดร้อนต่อสังคมด้านอาชญากรรมที่มีต้นเหตุมาจากยาเสพติด 4) การเร่งรัดปราบปรามกลุ่มค้ายาเสพติดที่สำคัญในพื้นที่ที่เป็นแหล่งการค้า 5) การมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 6) การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงาน ซึ่งในขณะนี้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนำร่องทั้ง 9 จังหวัด เพื่อเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยนำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้ตามสภาวการณ์และบริบทที่เหมาะสมกับพื้นที่ให้สามารถบรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ