สนช.ยันกม.กัญชาไม่เอื้อประโยชน์ต่างชาติ



ที่รัฐสภา วันนี้ (18 ม.ค.62) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และนายแพทย์เจตน์ ศิรธนานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในฐานะอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คนที่ 1  เปิดแถลงข่าว ยืนยันว่า กระบวนการออกกฎหมายทุกฉบับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดทุกประการ เช่นเดียวกันกับการเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน โดยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ www.senate.go.th หัวข้อ การรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ รวมระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็น ๑๕ วัน โดยมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๖,๔๓๑ คน

          - เห็นด้วย จำนวน ๑๖,๒๘๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๑๓

          - ไม่เห็นด้วย จำนวน ๑๓๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๐.๘๔

          - ไม่แสดงความคิดเห็น จำนวน ๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๐.๐๓

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านการสัมมนา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง “สนช. ปลดล็อคกัญชา เป็นยารักษาโรค” ในวันอังคารที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข ๓๐๖ - ๓๐๘ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒ โดยได้เชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น

ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้น ได้พิจารณาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้ง ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเชิญผู้แทนของภาคประชาชน และภาคสังคมเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการเมื่อวันพุธที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข ๓๐๗ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒ เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ได้แก่

๑) สภาเกษตรกรแห่งชาติ

ได้แก่ นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์  ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

๒) สภาการแพทย์แผนไทย

ได้แก่ พลเรือเอก ชาญชัย  เจริญสุวรรณ  นายกสภาการแพทย์แผนไทย

๓) เครือข่ายประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน

ได้แก่ นายปานเทพ  พัวพงษ์พันธ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมกัญชา

เพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน

๔) มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation)

ได้แก่ นายวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation)

๕) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH)

ได้แก่ ๑) นางสาวกรรณิการ์  กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH)

นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีช่องทางการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ผ่านทางเว็บไซต์ (Website) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้เปิดเผย ผลการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังกล่าวด้วย (www.senate.go.th)

ดังนั้น ขอยืนยันว่า กระบวนการพิจารณาหรือการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ที่คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการไปในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเป็นไปโดยถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ตามมาตรา ๗๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญทุกประการ

แต่อย่างไรก็ตามมีคนพยายามกล่าวหาว่า พ.ร.บ. แก้ไขยาเสพติด พ.ศ. 2522 ที่ สนช. พิจารณาแก้ไขเรื่องให้นำกัญชามารักษาโรค ที่ผ่านวาระ 3 ในสภาไปแล้ว มีความผิดพลาดใน 2 ประเด็น ซึ่งไม่เป็นความจริงและเป็นการตีความกฎหมายบิดเบือนไปจากทั้งตัวบทและเจตนารมณ์ ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องทั้งในตัวบทและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.แก้ไขยาเสพติด พ.ศ.2522 ที่ สนช. ผ่านความเห็นชอบให้แก้ไขเพื่อให้นำยาเสพติดประเภท 5 กัญชามารักษาทางการแพทย์ ดังนี้

@ ประเด็นที่หนึ่ง ที่กล่าวหาว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ที่ให้นำกัญชามารักษาโรคที่ผ่าน สนช. ไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงทั้งทางกฎหมายทั้งตัวบทและเจตนารมณ์ตามที่มีการให้ข่าวบิดเบือนแต่ประการใด โดยสามารถชี้แจงตามข้อเท็จจริง ดังนี้

  • กรณีกล่าวหาว่าเรื่องการอนุญาตยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ให้ทำการผลิต วิจัย ครอบครอง จำหน่ายจะทำให้ “พืชฝิ่น” สามารถขออนุญาตได้ และอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการแก้กฎหมายนั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใดกล่าวคือ

๑. ปัจจุบันการอนุญาตยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ นั้น เป็นไปตามมาตรา ๒๖

แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ เดิมที่กำหนดให้ “รัฐมนตรีจะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นราย ๆ ไป“การแก้ไขเรื่องการอนุญาตยาเสพติดให้โทษ

ในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่าน สนช.ไปแล้วนี้ (ร่างมาตรา ๒๖/๒ ถึงร่างมาตรา ๒๖/๕) เป็นการแก้ไขตามหลักการเดิม และเป็นหลักการเดียวกับที่กำหนดไว้ในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด จะแตกต่างกันเพียงผู้อนุญาต โดยผู้อนุญาตในร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2522 แก้ไขใหม่นี้ ได้แก่ “เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ”

สำหรับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ผู้อนุญาตได้แก่ “รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด”

 

๒. ร่างพระราชบัญญัตินี้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตไว้อย่างชัดเจน

ในร่างมาตรา ๒๖/๕ และกำหนดวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตไว้ในร่างมาตรา ๒๖/๒

และร่างมาตรา ๒๖/๓ ผู้ขออนุญาตจึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่การขออนุญาตตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตในกฎกระทรวง

๓. ในการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับพืชฝิ่นเป็นเรื่องในทางนโยบายของรัฐบาล

ซึ่งการอนุญาตทั้งตามร่างพระราชบัญญัตินี้และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นไปในหลักการเดียวกันคือ ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้แต่เฉพาะสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเท่านั้น โดยไม่มีการอนุญาตให้กับบุคคลทั่วไป

***จึงมิใช่ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้แก้ไขเฉพาะเรื่องนำยาเสพติดประเภท 5 กัญชามาทำยารักษาโรค แล้วจะทำให้เกิดการอนุญาตให้ปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่ายฝิ่น ตามที่มีการตีความกฎหมายดังกล่าว เพราะฝิ่นเป็นยาเสพติดที่อยู่ทั้งในประเภท 1,2,5 โดยในประเภท 5 นั้น เป็นเพียงต้นฝิ่น รวมอยู่ในประเภท 5 เดียวกับกัญชา กระท่อม เห็ดขี้ควาย ซึ่งไม่ได้เป็นยาเพสติดร้ายแรงเช่นประเภท 1 หรือ 2 เช่น เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่นดิบ ยางฝิ่น ฯลฯ และที่ผ่านมา คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดก็ไม่เคยอนุญาตให้ปลูกหรือครอบครอบหรือวิจัยได้ เว้นแต่ป.ป.ส. หน่วยเดียว เพื่องานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเท่านั้น

@ประเด็นกล่าวหาที่สอง ว่าร่างมาตรา ๒๒ ของ พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ ยาเสพติด พ.ศ. 2522 เพื่อให้นำกัญชามารักษาโรคนั้น จะเป็นการนิรโทษกรรม ทำให้ผู้ศึกษาวิจัยที่เป็นบริษัทหรือบุคคลต่างชาติ  ได้เปรียบผู้ศึกษาวิจัยที่เป็นคนไทยที่จะทำการศึกษาวิจัยได้เมื่อกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ และอาจมีผลกระทบต่อการยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเกิดความเสียหายและไม่ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายเท่าที่ควรนั้น

๑. กรณีผู้ศึกษาวิจัยที่มีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ร่างมาตรา ๒๒ จะยกเว้นโทษให้กับบุคคลดังกล่าว แต่บุคคลดังกล่าวต้องยื่นขออนุญาตตามร่างมาตรา ๒๒ (๑)

๒. การพิจารณาอนุญาตให้แก่บุคคลตามร่างมาตรา ๒๒ (๑) ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามร่างมาตรา ๒๖/๕ วรรคสอง ซึ่งต้องเป็น “บุคคลที่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีสำนักงานในประเทศไทย”  ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ศึกษาวิจัยเป็นบุคคลต่างชาติซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจึงไม่อาจขออนุญาตเพื่อศึกษาวิจัยได้ และหากผู้ศึกษาวิจัยเป็นนิติบุคคล ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีสำนักงานในประเทศไทย

*** จึงมิได้เป็นบทบัญญัติที่เอื้อประโยชน์กับชาวต่างชาติแต่อย่างใด สำหรับบุคคลต่างชาติที่ประสงค์จะขออนุญาตศึกษาวิจัยภายหลังร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งไม่ใช่กรณีตามร่างมาตรา ๒๒ (๑) ก็ไม่สามารถขออนุญาตได้ เนื่องจากต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๖/๕ วรรคสอง เช่นเดียวกัน

  • กรณีผลกระทบในเรื่องการจดสิทธิบัตรนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ การยื่นจดสิทธิบัตรมีผลไม่ต่างกัน เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับมีหลักการเช่นเดียวกันคือ กำหนดให้เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ได้เช่นเดียวกัน