“สร้างต้นแบบคงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์”งานวิจัยเชิงพื้นที่มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา



จากอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ใน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ประกอบกับความรุ่งเรืองในอดีตจากทุนด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและความหลากหลายของทรัพยากร ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยใน 3 โครงการ ได้แก่1.โครงการนวัตกรรมการประพันธ์เพลงเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี2.โครงการสร้างสรรค์การแสดงเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี และ3.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ผศ.ดร.เอกชัย พุหิรัญนักวิจัยจากโครงการนวัตกรรมการประพันธ์เพลงเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมฯกล่าวถึงงานวิจัยดังกล่าวว่าเป็นการนำเพลงพื้นบ้านของชาติพันธุ์ลาวในพื้นที่ อ.อู่ทอง มาเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการประพันธ์ โดยใช้ความรู้ทางด้านดนตรีที่ร่วมสมัยเข้ามาสอดแทรกเพื่อกระตุ้นสำนึกรักษ์รากของตน สร้างการรับรู้ในวัฒนธรรมท้องถิ่นให้แก่คนทั่วไปได้รู้จัก

“การทำงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการค้นหาอัตลักษณ์ทางดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆใน อ.อู่ทอง เพื่อดึงจุดเด่นแต่ละอย่างของชาติพันธุ์ในพื้นที่ ที่แสดงถึงความงดงาม ประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรืองในด้านต่างๆ แล้วนำมาประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ในรูปแบบดนตรีตะวันตก โดยได้ค้นคว้าข้อมูลจากฐานข้อมูลเดิม ประกอบกับการลงพื้นที่พูดคุยกับพ่อเพลงแม่เพลงและชุมชนผู้มีส่วนรวมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้บทเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ให้มากที่สุด”

ผศ.ดร.เอกชัยยังกล่าวอีกว่า ชุดนวัตกรรมการประพันธ์เพลงมี 4 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.ชุดบทประพันธ์เพลงบรรเลงเปียโน 5 บท เป็นเพลงเกี่ยวกับดอกไม้พื้นถิ่นที่สวนหินพุหางนาค 2.บทประพันธ์เพลงประกอบการแสดง “รุ่งอรุณแห่งอู่ทอง”ซึ่งเป็นบทประพันธ์เพลงที่นำไปใช้ประกอบกับโครงการสร้างสรรค์การแสดงเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมฯ ด้วย 3.บทประพันธ์เพลงลูกทุ่งสมูทแจ๊ส“อู่ทองถิ่นธรรม”โดยมีเนื้อหากล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองของ อ.อู่ทองในอดีต ทั้งความเชื่อในพระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 4.บทประพันธ์ชุดเพลงพื้นบ้านประสานเสียงสำเนียงสุพรรณ “ตำนานอู่ทอง”เป็นการนำเพลงอีแซวมาเรียบเรียงใหม่ผนวกกับการร้องประสานเสียงสำเนียงสุพรรณในแบบA cappella

ด้านผศ.ดร.สุปราณี ศิริสวัสดิ์ชัย นักวิจัยโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว กล่าวถึงงานวิจัยในส่วนนี้ว่า งานวิจัยที่ตนรับผิดชอบเป็นการนำโจทย์ในเรื่องการยกระดับเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ของประชากร เป็นการสร้างต้นแบบของที่ระลึกด้วยการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก จากเอกลักษณ์สีและลายของผ้าทอกลุ่มชาติพันธุ์ลาวใน อ.อู่ทอง ซึ่งมีหลากหลายชาติพันธุ์ อาทิ ลาวเวียง ลาวครั่ง ลาวโซ่ง เป็นต้น เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกโดยบูรณาการความรู้จากศาสตร์ของนักวิจัยในแต่ละสาขาเข้ามาผสมผสานให้เกิดความลงตัวมากที่สุด

 

“มีนักวิจัยจาก 5 สาขาวิชา 3 คณะ คือสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน การประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย จากคณะวิทยาการจัดการสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาแอนิเมชั่นและดิจิทัลมีเดีย จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นการบูรณาการศาสตร์ที่มีความแตกต่างมาดำเนินงานวิจัยร่วมกันในแต่ละศาสตร์ก่อให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และเป็นการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ในการทำงานเชิงพื้นที่ด้วย”

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกชาติพันธุ์แบ่งเป็น2 ชุด คือชุดเครื่องประดับ เช่น ต่างหู กิ๊บติดผม พวงกุญแจ เป็นต้น และชุดเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จานชาม ถุงผ้า เป็นต้น

สำหรับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นนำทุนเดิมของ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เช่น ทุนด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและความหลากหลายของทรัพยากร มาศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับรายได้เศรษฐกิจของชุมชน ภายใต้กรอบวิจัย 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและชุมชนได้ประโยชน์ผ่านฐานประเพณีวัฒนธรรม ฐานโบราณคดีและประวัติศาสตร์ และฐานทรัพยากรธรรมชาติ 2.การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนจากฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และ 3.สร้างการรับรู้คุณค่าวัฒนธรรมประเพณี เพื่อสื่อสารให้คนนอกพื้นที่เข้าใจและรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน

ปัจจุบัน งานวิจัยทั้งหมดนำไปสู่การเผยแพร่และจำหน่ายแก่คนทั่วไปแล้วอย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในด้านดนตรีและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นักวิจัยนำองค์ความรู้ที่ถนัดเข้ามาร่วมบูรณาการเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจในคุณค่านำไปสู่การสืบสานและอนุรักษ์ต่อไป.

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ