เสียงกู่ร้องของวันวาฬ

วาฬตัวที่เคยซุกอยู่ในซอกหลืบลึกสุดของหัวใจ กระโจนผ่านไม้พายแนบหัวซึ่งส่วนปลายทิ่มลงพื้นน้ำ ลอยลิ่วไปในท้องฟ้าแล้วทิ้งตัวร่วงหล่นสู่ทะเลกว้าง ผืนน้ำแตกกระจายพุ่งละอองเป็นฟองฝอย ก่อนทุกอย่างจะกลับคืนสู่ความราบเรียบเงียบสงบ
ดำดิ่งลึกเร้นไปในเวิ้งน้ำ ริ้วเงาวาฬตัวแล้วตัวเล่าปรากฏ ต่อแถวรายเรียงสู่ทิศทางแสนมืดมิดของก้นสมุทรนั่นเป็นภาพความทรงจำปรากฏอีกครั้ง ภาพประทับใจที่ไม่เคยแหว่งวิ่นเลอะเลือน ขณะหนึ่งข้าพเจ้าถือไม้พายแนบหัวสดับตรับฟังสรรพเสียงใต้ท้องน้ำบรรเลงดั่งต้องมนต์เป็นเช่นเดียวกับหลายชุมชนทั่วโลกที่ฟังเสียงปลาโดยแนบหูกับไม้พายหรือท้องเรือ และปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของชาวกรีนแลนด์ที่ใช้ไม้พายฟังเสียงขับขานของวาฬ


“ผมว่างานศิลปะที่นี่ดูยากนะ มีเหมือนไม่มี เห็นเหมือนไม่เห็น แต่มันดำรงอยู่แน่นอน” สุวิวัฒน์ วงศ์จนานุกูล หรือ “โกวัฒน์” คนท้ายเรือวาดดวงตามุ่งมั่นมองไปยังทิศที่กำลังมุ่งสู่ เรือลำน้อยแล่นตัดแผ่นน้ำจนสะเก็ดน้ำสองฟากแตกกระจายตัดแสงอาทิตย์ ขณะพูดคุยถึงผลงานศิลปะของ Jana Winderen หญิงสาวชาวเมืองโบโด ซึ่งผ่านการใช้ชีวิตอยู่ที่ออสโล ประเทศนอร์เวย์ แต่กลับทำให้ “เสียง” ของชาวประมงท่าปอมค่อยๆ ดังสะท้อนก้องกังวาน เช่นเดียวกับผู้คนที่ไม่เคยยินเสียงในท้องทะเลลึกมาก่อน กลับฉงนในกังสดาลจากท้องทะเล ท่วงทำนองเสียงธรรมชาติอาจฟังดูแปลกแปร่ง หากทว่าแสนอบอุ่นลุ่มลึก...


เป็นเวลาหลายชั่วรุ่นชั่วอายุคนที่ชาวประมงแห่งท่าปอม จังหวัดกระบี่ ใช้วิธีฟังเสียงหาตำแหน่งปลาด้วยการแนบหูกับไม้พายหรือท้องเรือ เช่นเดียวกับชาวประมงสงขลาฝึกฝน “วิชาดูหลำ” และภาษามลายูถิ่นชายแดนใต้เรียก “ยูสะแล” หรือ “ยูสะหลำ” ดำดิ่งลึกลงไปฟังเสียงปลาเพื่อหาตำแหน่ง แต่ถึงรุ่นปัจจุบัน วิชาเหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายตามกาล ไร้ผู้สืบทอด ไร้การบันทึกเป็นหลักฐาน โกวัฒน์ ซึ่งใช้ชีวิตออกเรือตั้งแต่วัยหนุ่ม กินอยู่หลับนอนในอ้อมโอบทะเลมาตลอดหลายสิบปี เพียงรับรู้ถึงการมีอยู่ของวิชาฟังเสียงปลา รับรู้การมีอยู่ของเสียงธรรมชาติท่ามกลางความเปล่าเปลี่ยวเงียบเหงา หรือการมีอยู่ของเสียงที่มีต้นสายจากจุดใดจุดหนึ่งใต้ท้องทะเลลึกดำมืดยะเยือกเย็น 


หากทว่าไม่เคยได้นำวิชาฟังเสียงปลามาใช้ แม้กระทั่งไม่สามารถจำแนกเสียงแปลกจากใต้ท้องน้ำที่เคยได้ยิน เสียงเปาะแปะ เปาะแปะ ดังบ้าง เบาบ้าง แต่ละเวลาฤดูกาลเสียงปลาจะแตกต่างกัน แม้กระทั่งปลาชนิดเดียวกัน แถมยังมีเสียงเพรียง เสียงปะการัง เสียงครีบปลาฉลามลู่กับสายน้ำ เสียงปลากระเบนกระพรือครีบขาวนวลอมเทา เสียงอันลึกลับเหล่านี้จะส่งเสียงดังมากสุดในคืนทะเลอาบแสงจันทร์วันเพ็ญตราบกระทั่งวันหนึ่งจึงได้เข้าใจ...


ในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง พรานแม่น้ำรู้ว่าปลามักไม่กินเหยื่อ จึงละเว้นไม่วางเบ็ดจับปลาห้วงเวลานั้น บ้างว่ากันว่าเพราะแสงจันทร์ทำให้ปลาเห็นเหยื่อที่เกี่ยวไว้กับเบ็ด แต่สำหรับการล่าปลาใต้น้ำกลับไม่มีผลมากนักเนิ่นนานมาแล้วลึกลงไปใต้ลำธารใสใจกลางป่าเปลี่ยว ข้าพเจ้าสวมหน้ากากดำน้ำ กลายเป็นปลาเวียนว่ายดำดิ่งเริงน้ำ มือเท้าเปลี่ยนเป็นครีบและหางปลา เคลื่อนไหวพยุงกุมทิศทาง กระทั่งวางตัวสงบมั่นแนบกายกลืนกลายไปกับหินกรวดทราย มือน้อยจับกิ่งก้านรากไม้รอบข้างพยุงตัวให้แน่นิ่ง ไม่ไหลลอยเลื่อนไปตามกระแสน้ำเชี่ยวรู้ว่ายิ่งลึก ปลายิ่งชุม ตัวยิ่งโต แต่แน่นอน แรงอัดแรงกดดันในน้ำลึกยิ่งมากตาม


สิ่งที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้เวลานั้น คือ สัญญาณของความเงียบ ความลึกเร้น เสียงแปลกแปร่งหวีดหวิว บางขณะนึกถึงเรื่องเล่าของ “ฮาตูอาย” ผีพรายที่คอยฉุดดึงรั้งแขนกระชากขาผู้คนกลืนกินในสายน้ำ ท่ามกลางความระทึกท้น ร่างกายข้าพเจ้ากลับสงบนิ่ง สายตาสอดส่ายมองหาการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต มืออีกข้างจับปืนยิงปลาซึ่งมีฉมวกแหลมคมซ่อนเงื่อนไว้มั่นพร้อมลงมือเหนี่ยวไกทันทีที่ปลาใหญ่ว่ายเวียนผ่านมาใกล้ เสียงปลาแต่ละชนิดผิดแผกกัน เสียงปลาดุกกับปลากดไม่ต่างกันมาก ดังอ๊อกๆๆๆ บางปลาส่งเสียงจั๊บๆ จี๊ดๆ สารพัดเสียงผ่านมาให้ได้ยิน


บางครั้งเงียบ กระทั่งสามารถยินเสียงหัวใจตัวเองได้ชัดเจนขึ้นยามซุกร่างอยู่ก้นบึ้งบึงน้ำธารใหญ่ตราบเมื่อข้าพเจ้าเหนี่ยวไก หมายลำตัวกว้างใหญ่เกล็ดแวววาว ปลายฉมวกพุ่งสู่เป้าหมาย เกล็ดสีเงินยวงแตกกระจาย น้ำใสกลายเป็นสีขุ่นข้นจากตะกอนดิน ปลาตัวใหญ่ดิ้นรนสิ้นฤทธิ์ก่อนจำนนในโชคชะตาข้าพเจ้าเป็นพรานปลา ทั้งวางเบ็ด วางอวน ดำน้ำยิงปลา กระทั่งผ่านไปหลายปีจำต้องเลิกรา เพราะผลกระทบจากความกดอากาศในน้ำลึกถึงขั้นได้ยินเสียงแปลกแปร่ง ส่งผลให้แก้วหูทะลุ อักเสบ กลัดหนอง เจ็บปวดสุดทรมาน จำต้องเดินทางจากชายแดนใต้สุดสู่เมืองกรุงเพื่อให้แพทย์ผ่าตัดรักษา เมื่อรักษาจนหาย ข้าพเจ้าไม่อาจดำน้ำลึกได้อีกต่อไป หลังจากนั้นสิ่งที่เลือกทำแทนการยิงนกตกปลา คือการดูทีวี ยุคเมืองไทยยังเพิ่งมีการถ่ายทอดรายการซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นละครหรือเรื่องเล่าปรัมปรา จึงเลือกหมุนช่องทีวีไปรับชมรายการจากประเทศเพื่อนบ้าน “มาเลเซีย” ที่มีรายการหลากหลายกว่า น่าสนใจกว่า นั่นทำให้ได้รับชมรายการสารคดีซึ่งประทับแน่นในความทรงจำมายาวนาน

เรื่องราวตรึงตราเกี่ยวกับ “ชาวลามาเลรา” นักล่าวาฬแห่งหมู่เกาะฟลอเรสเบื้องทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินโดนีเซีย ที่รับรู้การมาถึงของฝูงวาฬด้วยการใช้สายตาคะเนดาวเดือน ทิศทางของลมฟ้า และฟังสัญญาณเสียงลึกลับจากท้องทะเลลึก
ความตื่นเต้นถึงขีดสุด เมื่อข้าพเจ้าเห็นภาพชาวประมงพุ่งฉมวกด้ามไม้ไผ่แทงไปยังวาฬกำลังพ่นน้ำ เพื่อให้ทะลุผิวหนังหนา ก่อนจะยึดวาฬไว้กับตัวเรือฉมวกที่ถูกร้อยรัดด้วยเชือกตรึงวาฬมิให้ว่ายหนีไปไกล ก่อนถูกฉมวกอีกนับสิบระดมทิ่มแทง เป็นภาพจำวัยเยาว์ ภาพวิถีชาวประมงที่ผูกติดอนาคตไว้กับดินฟ้าอากาศคลื่นมรสุม เสี่ยงชีวิตเพื่อการยังชีพสำหรับผู้คนทั้งหมู่บ้าน ตัดกันกับภาพปัจจุบัน ภาพของการล่าวาฬสมัยใหม่หลายแห่งทั่วโลกซึ่งกลายเป็นเทศกาล วาฬจำนวนมากถูกตะขอเกี่ยวลาก ถูกมีดสับแล่เนื้อทั้งเป็น เลือดไหลนองแดดฉานอาบผืนน้ำเป็นวงกว้าง 

 




นอกจากติดตามเรื่องราวความรู้เก่าแก่เกี่ยวกับการฟังเสียงของวิถีชาวประมงในหลายชุมชนทั่วโลก แน่นอนว่า Jana Winderen ย่อมเคยได้ยินเรื่องเล่าของชาวกรีนแลนด์ ที่ใช้ไม้พายฟังเสียงขับขานของวาฬ เป็นคลื่นเสียงซึ่งเธอบอกว่า มันจะพุ่งผ่านกระดูก เดินทางผ่านกระโหลก เข้าไปสู่พื้นที่หูชั้นในโดยตรง อันเป็นกลไกการฟังเสียงที่มนุษย์มีร่วมกับปลาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หลอมรวมกลายเป็นจิตวิญญาณเดียวกันจากกรีนแลนด์สู่อีกหลากหลายพื้นที่ที่เธอลงไปศึกษา พร้อมสร้างผลงานชิ้นใหม่ๆ ทั้งศิลปะจัดวางเสียงแบบหลายช่องทาง งานคอนเสิร์ตที่จัดการแสดงตามสถาบันและพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั่วโลกตราบกระทั่งต่อมา ตลอดหลายเดือนที่ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับชาวประมงแห่งท่าปอม จังหวัดกระบี่ เธออาศัยความชำนาญหาเส้นทางของชาวประมงพาผู้มาเยือนออกเดินทางไปตามลำน้ำ “เพื่อฟังเสียงของเรือและไม้พาย โดยที่ปราศจากเสียงเครื่องยนต์ ซึ่งทำให้ประสาทสัมผัสแข็งแกร่งขึ้น”


“ผู้คนแถวนี้ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน จึงมีความชำนาญเรื่องน้ำ เรื่องสัตว์ทะเล” อรุณ ภูมิภมร ผู้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับสายน้ำและชาวประมงแห่งท่าปอมซึ่งร่วมเดินทางกับคณะเรา บอกกล่าวขณะเรือโดยสารลอยลำนิ่งเพื่อลองฟังเสียงปลา เสียงคลื่น เสียงลม และเสียงหัวใจตัวเองระหว่างรอ ข้าพเจ้าคิดถึงถ้อยคำในป้ายไม้ที่ติดไว้บริเวณท่าเรือใกล้ทางเข้าท่าปอมคลองสองน้ำ จั่วหัวด้วยคำว่า “ผ่านกระดูก” (Through the Bones) พร้อมคำขยายความ


... การเดินทางจะเริ่มต่อเมื่อน้ำขึ้นสูงพอ เวลาของการออกเรือในแต่ละวันเปลี่ยนไปพร้อมกับดวงจันทร์ The journey begins when the tide is high enough. Departure time for each day changes with the moon phases.
เรากำลังเดินทางกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับ “Through the bones, 2018 : Sound installation” ของ Jana Winderen หนึ่งใน ๗๐ ชิ้นงานศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ซึ่งจัดแสดงในงาน Thailand Biennale, Krabi 2018 ระหว่างวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ จังหวัดกระบี่ ภายใต้แนวคิด “สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์”
เรื่องราวเกี่ยวกับภูมิปัญญาของชาวประมงพื้นบ้าน นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวสุดมหัศจรรย์ อาจบางทีเป็นศิลปะที่เหนือความเป็นศิลปะ มิอาจจับต้องได้ในทางรูปธรรม แต่ศิลปินสัมผัสได้ด้วยดวงใจ เขาจึงทำให้ผู้เสพสามารถได้ยินแม้กระทั่งเสียงกระซิบจากดวงจันทร์ผ่านระดับน้ำขึ้นและลง


นั่งเรือจากท่าปอมมาได้ระยะหนึ่ง ผ่านป่าโกงกางรายเรียงสองฟากฝั่งคลอง ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมทางเดินทางมาถึง “ศาลาปากแม่น้ำ” ซึ่งหันหน้าเข้าหาทะเลอันกว้างใหญ่เสียงลมหวีดหวิว ใบไม้สั่นไหว ท้องทะเลราบเรียบ ทว่าบางขณะม้วนตัวเป็นระลอกคลื่นขาวซ้อนเป็นชั้น สมาชิกหลายคนในคณะร่วมทางนั่งนิ่งสงบทอดสายตามองฟ้าทะเลคะนึง ขณะมุมหนึ่งของแผ่นฝาไม้กระดานมีป้ายอักษรของศิลปินตั้งอยู่ ข้อความตอกย้ำว่า “คุณได้มาถึงจุดสิ้นสุดของการเดินทางครั้งนี้ เรือจะพาคุณกลับก่อนเวลาน้ำลง เชิญฟัง” You have reached the end of this journey. You will be taken up-river before the tide is low. Please listen…

ในโลกเวิ้งว้าง ในสายตาอ้างว้าง บางที... เสียงกู่ร้องของวันวาฬกำลังขับขานวาฬตัวสุดท้ายใต้ท้องทะเลลึกส่งสายตาคล้ายจันทร์ครึ่งเสี้ยว ร้องขออะไรบางอย่าง ขณะความเงียบดำเนิน เราต่างสบตากันมั่น ก่อนข้าพเจ้าจะโจนจากศาลาปากแม่น้ำ ดำดิ่งลึกตามลงไปในก้นมหาสมุทร

 

ที่มา:เรื่อง/ภาพ : ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

#ThailandBiennaleKrabi2018 
#OCAC #สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
#กระทรวงวัฒนธรรม