หลงเสน่ห์ทำนาบนตำนาน...ชวนเดินทางสู่แคว้นมึกะคี



ผาหมอน หนึ่งในดินแดนแห่งแคว้น “มึกะคี” หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวปกาเกอะญอ หรือ กระเหรี่ยงแห่งแคว้นมึกะคี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ รอบๆ ชุมชนมีภูเขาลูกย่อมๆ ลักษณะคล้ายหมอน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านผาหมอน”  และด้วยความพิเศษของพื้นที่ที่อยู่บนต้นน้ำ ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นกันสมบูรณ์  ชาวบ้านที่นี่ทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ปัจจุบันบ้านผาหมอนกลายเป็นแหล่งปลูกข้าว กุหลาบ ดอกไม้เมืองหนาว เฟิร์น และพืชผักอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งขายยังร้านของโครงการหลวง และตลาดทั้งในเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร

ในมุมการท่องเที่ยว เสน่ห์ของบ้านผาหมอน นอกจากภาพความสวยงามของทุ่งนาเหลืองอร่ามที่ไล่ระดับเป็นขั้นบันไดจากเนินเขาลงไป ยังมีเรื่องราวร้อยเรียงเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ เกี่ยวกับการทำนาอีกมากมายที่รอให้คุณได้ไปสัมผัสอีกหลายแง่มุม ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้คนบ้านผาหมอนใช้เวลานานกว่า 10 ปี “ลุกขึ้น” ขึ้นมาจัดการข้อมูล ค้นหาของดีของบ้านตัวเองมาเป็นจุดขายด้วยการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น

 

ด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ผลของงานวิจัยครั้งนั้นทำให้ชุมชนได้ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เช่น วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ และยังมีการศึกษารวบรวมข้อมูลด้านพันธุ์ข้าว ภูมิปัญญาการทำนา เพื่อสร้างแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับชุมชนโดยการมีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยของคนในชุมชนผาหมอน ทำให้ชุมชนมีระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ การให้บริการนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน รวมถึงยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท่องเที่ยว และระบบการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เช่น ระบบการถือหุ้นในบ้านพัก Bamboo Pink House (บ้านพักหลังแรกของกลุ่มทองเที่ยว) ซึ่งมีหุ้นทั้งหมด 400 หุ้น จากจำนวนสมาชิก 70 คน หรือบ้านอิงผาชมดาว (ผาหมอนใหม่) มีหุ้นทั้งหมด 1,994 หุ้น จากจำนวนสมาชิก 120 คน

 

ปัจจัยสำคัญมาจากโครงสร้างองค์กรด้านการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งของชุมชน ระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการกระจายผลประโยชน์ให้แก่คนในชุมชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ชุมชนผาหมอนได้กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานในด้านที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้แก่ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจริเริ่มการจัดการท่องเที่ยว

โปรแกรมการท่องเที่ยวบ้านผาหมอนมีจุดเน้นที่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติและการท่องเที่ยวรอบหมู่บ้าน จัดมีให้ได้เรียนรู้ในเรื่องของวิถีการทำเกษตร การทำนาขั้นบันได การปลูกพืชเมืองหนาว อาทิ มะเขือเทศ ผัก และไม้ดอกต่างๆ การศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม การทอผ้า จักสานและการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองเตหน่า นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการปั่นจักรยานรอบหมู่บ้าน ในส่วนของที่พัก ชาวบ้านใช้รูปแบบการสร้างบ้านพักกลางและมาบริหารจัดการร่วมกัน รูปแบบการถือหุ้นของคนในชุมชน บ้านผาหมอนจึงมีบริการบ้านพักนักท่องเที่ยว 2 หลัง ได้แก่ บ้านแบมบูพิ้งเฮาส์ และบ้านอิงผาชมดาว ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณหลังละไม่เกิน 15-20 คน ซึ่งบ้านพักนักท่องเที่ยวจะเป็นส่วนหนึ่งของการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในชุมชน

 

นับเวลาของการดำเนินงานด้านการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนผาหมอนตั้งแต่โครงการวิจัยครั้งแรกที่ใช้เวลานานถึง 13 ปี ชุมชนผาหมอนมีรายได้จากกิจกรรมท่องเที่ยวสูงถึงปีละ 700,000กว่าบาท หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ชุมชนแห่งนี้มีรายได้เหลือเข้าส่วนกลางที่เป็นเงินปันผลกลุ่มผู้ถือหุ้นปีละ200,000 กว่าบาท

ล่าสุดคนบ้านผาหมอนร่วมกันทำวิจัยในโครงการการจัดการแหล่งเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยววิถีชาวนาชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีพะตีบุญทา พฤกษาฉิมพลี เป็นหัวหน้าที่ ได้รับการสนับสนุนการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของรัฐบาลร่วมมือกับ สกว.  ทนำกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น และการท่องเที่ยว เป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างพื้นที่รูปธรรมของการท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย โดยมีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย สร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการสร้างคุณค่าของข้าว และวิถีชาวนาที่เป็นเรื่องหลักของสังคมเกษตรของประเทศไทย อันนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยผ่านการจัดการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ และเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านผาหมอนเกิดความเข้มแข็ง กลายเป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยววิถีชาวนาที่ไม่ยอมละทิ้งวิถีชีวิตเดิมๆ ของตนเอง

ข้าวคือชีวิต

 “ข้าวคือชีวิตของคนกะเหรี่ยง เราให้ความสำคัญกับข้าวมากกว่าเงินทอง” ก็น่าจะเป็นเรื่องจริงเพราะปกาเกอะญอมีพิธิกรรมและขั้นตอนการปลูกข้าวไม่น้อยกว่า 30 ขั้นตอน ปกาเกอะญอให้ความสำคัญกับทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงของต้นข้าว  ด้วยความเชื่อและตำนานที่เล่าขานมาหลายชั่วอายุคน

กิจกรรมของชาวนาเริ่มตั้งแต่การเตรียมนา ซึ่งต้องเตรียมให้พร้อมตั้งแต่เดือนมกราคม ด้วยการหาที่เหมาะ ๆ และดินดี ๆ ที่สำคัญ ต้องเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินรังนก และจะต้องหมุนเวียนกันปลูก เพราะที่นาเป็นของทุกคน  

 

ในเดือนเมษายน - สิงหาคม เป็นช่วงการเตรียมเมล็ดพันธุ์  ปล่อยน้ำเข้านา เลี้ยงผีฝาย ระหว่างนั้นจะมีพิธีต้มเหล้าบือแซะคลีที่ใช้สำหรับพิธีมัดมือช่วงทำนา  จากนั้นก็ลงแปลงไถนาเตรียมดิน หมักดิน ปั้นคันนา หว่านข้าว และเมื่อต้นข้าวงอกจากพื้นดินและโผล่พ้นน้ำ ก็จะมีพิธีมัดมือ เป็นเสมือนการขอบคุณเทวดาที่อำนวยพรอาหารมาให้  ขณะที่ปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโต ออกรวง จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้หนูหรือศัตรูมาทำลายต้นข้าว  และเมื่อข้าวสุกเต็มที่เหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง ก็จะมีประเพณีเอามื้อ (ลงแขก) เกี่ยวข้าว เมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวก็เป็นประเพณีกินข้าวใหม่ (เอาะบือไข่) และพิธีแซะพอโข่ หรือที่เรียกว่า พิธีเรียกขวัญข้าว เพื่อเป็นการขอบคุณเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองผูกข้อมือ ต้มเหล้า และเลี้ยงผี 

 

 

การเลี้ยงผีนา จะเกิดขึ้นราวเดือนสิงหาคม ชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอนจะประกอบด้วยพิธีกรรมสำคัญ 3 อย่าง คือ “พิธีต่าแซะ”  หรือการทำพิธีเพื่อบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกจากท้องนา “พิธีเต่อม้อชิ”  เป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ดูแลพืชพันธุ์ให้ต้นข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ที่เพาะปลูกเจริญเติบโตและงอกงามดี และ “พิธีต่าหลื่อ” เป็นพิธีกรรมเพื่อขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่ต่าง ๆ ให้ช่วยคุ้มครองดูแลนาข้าวให้อุดมสมบูรณ์ รวมถึงสรรพสิ่งในชีวิตของชาวปกาเกอะญอตั้งแต่ครอบครัว ทรัพย์สิน หรือสัตว์เลี้ยง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพิธีกรรมที่คล้ายคลึงกัน

นอกจากพิธีกรรม ชาวบ้านผาหมอนยังมีภูมิปัญญาในการเลือกเพาะปลูกพันธุ์ข้าวได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคของคนในชุมชน ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากข้าวเพื่อการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

“แวโข่ สู่ลอบือ”  : คนปลูกข้าว

ก่อนเริ่มต้นปลูกข้าว  ปกาเกอะญอจะคัดเลือกสมาชิกในครอบครัวที่จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานเพาะปลูกในปีนั้น หรือเรียกว่า “แวโข่สู่ลอบือ”  โดยคัดจากสมาชิกที่เชื่อว่าหากเป็นผู้นำในการเพาะปลูกแล้วจะทำให้ได้ผลผลิตดี โดยผู้ที่ได้รับเลือกจะเป็นผู้เริ่มต้นการปลูกข้าวทุกขั้นตอน  และก่อนลงมือปลูกข้าว จะต้องเสี่ยงทายด้วยการเริ่มต้นปลูกข้าววันละต้นจนครบ 7 วัน และไปดูว่า ข้าวทั้ง  7 ต้น (พือโท่ลอ) ต้นไหนโตมากที่สุด ก็จะถือเอาวันนั้นเป็นวันดี และเริ่มต้นการเพาะปลูกข้าวในวันนั้นของสัปดาห์ถัดไป

ว่ากันว่า การปลูกข้าว 7 วัน เป็นไปตามตำนานที่ว่าด้วยเรื่องของการ “ปลูกข้าว” เพราะข้าว 7 กอ เปรียบเสมือนเทพเจ้าทั้ง 7 ที่ประทานโดย “เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์” ที่แปลงร่างเป็นหญิงชราลงมาเฝ้าดูชายกำพร้าชื่อ “จอโผ่ แค” ที่ปลูกข้าวแล้วโตเพียง 7 กอเท่านั้น และด้วยความเมตตาของเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ในร่างของหญิงชรา ได้ดลบันดาลให้ข้าวทั้ง 7 ก่อของชายกำพร้า เจริญงอกงามกระทั่งทำให้ชายหนุ่มสามารถเก็บเกี่ยวข้าวทั้ง 7 กอนั้นจนเต็มยุ้งฉาง  

 จากนั้น หญิงชรา ก็บอกกับหนุ่มกำพร้าว่าเธอจะต้องกลับบ้านบนฟ้าแล้ว โดยเมื่อใดที่ชายกำพร้าเห็นตอไม้ถูกเผาเป็นสีดำทั่วไร่ให้เรียกหายายแล้วยายจะกลับมา เมื่อพูดจบหญิงชราได้กลายร่างเป็นนกวิเศษบินขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ชาวปกาเกอะญอจึงถือว่า “โถ่ บี ข่า” หรือนกขวัญข้าวเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา และเมื่อชาวบ้านเห็นนกชนิดนี้บินอยู่เหนือทุ่งนา นั้นหมายความว่าต้นข้าวจะเจริญเติบโตงอกงามให้ผลดี

พิธีกรรมยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากเสร็จพิธี “ปลูกข้าวเสี่ยงทาย” ผู้ชายในครอบครัวจะต้องมาทำหน้าที่ ขุดหลุม ผู้หญิงจะเป็นหยอดข้าวลงหลุม ที่สำคัญต้องเป็นชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน  หลังเสร็จพิธี ทุกคนก็จะมาเอามื้อปลูกข้าวจนเต็มนา จากนั้นก็จะมีพิธีกรรมบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกป้องคุ้มครองเมล็ดข้าวเพื่อให้ข้าวเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี โดยจะอธิษฐานว่า “ขอให้ (ข้าว) ต้นใหญ่ เมล็ดใหญ่ ได้กินทั้งคนจน คนรวย ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง”

เดือนกันยายน - ตุลาคม ของทุกปี เป็นช่วงที่นาข้าวขั้นบันไดที่บ้านผาหมอนจะโตเต็มที่ รอการเก็บเกี่ยว   และ พันธุ์ข้าวของชาวผาหมอน ที่นิยมกินก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น “บือพะโดะ” ข้าวเมล็ดใหญ่ ปลูกแล้วผลผลิตดี รสชาติอร่อย และอีกสายพันธุ์ที่นิยมปลูกคือ  “บือโปะโหละ” ข้าวเมล็ดกลม เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของหมู่บ้าน มีกลิ่นหอม รสอร่อยเช่นกัน  ที่สำคัญคือให้ผลผลิตจากการปลูกต่อหนึ่งรอบเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์อื่น ๆ

 แต่ข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมชาวบ้านผาหมอนก็ยังคงเก็บรักษาไว้ให้เห็น ทั้ง “บือพะทอ”  ข้าวเมล็ดยาว ที่ให้ผลผลิตน้อย รสจืด แข็ง “บือแหม่แฮคี” พันธุ์ข้าวที่มีลำต้นสูงใหญ่ ทนทานต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็นได้ดี และเป็นข้าวที่มีความหอมมัน ถึงแม้ข้าวจะเย็นลงความนุ่มก็ยังคงอยู่  “บือโนมู” เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกมาแต่ดั้งเดิมในพื้นที่ แต่ปัจจุบันพันธุ์ข้าวชนิดนี้เริ่มสูญหายไปจากบ้านผาหมอนแล้ว เนื่องจากมีความหอม รสชาติดี รับประทานได้ในปริมาณมาก จึงไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภคได้

ในปัจจุบัน คนผาหมอนเริ่มปลูกข้าวพันธุ์ใหม่คือ “ข้าวพระราชทาน” ที่ชาวบ้านนำมาเมื่อครั้งลงไปถวายความเคารพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9)  

“ได้มาประมาณ 10 เม็ด ปีที่แล้วเอาไปเพาะและเริ่มปลูก ปีนี่เรากำลังขยายข้าวพันธุ์นี้อยู่ คิดว่าถ้าได้ผลออกมาดีหลังเก็บเกี่ยวก็จะแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน” พะตีบุญทากล่าวด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข

 

ตลอดทั้งปี ชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอน เผยเสน่ห์ของวัฏจักรชีวิตที่อยู่คู่การทำนา “วิถีข้าว” ที่แฝงอยู่ในมิติต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนอย่างแนบแน่น ตั้งแต่ภูมิปัญญาการทำนาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งมีลักษณะเฉพาะตามระบบความคิดของกลุ่มชาติพันธุ์

การมาเยือนที่บ้านผาหมอนจึงเป็นอีกมิติหนึ่งของนักเดินทาง เป็นโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจ “การทำนา”  ของชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ป่าได้เป็นอย่างดี

 “เอาะที เก่อตอที เอาะป่า เก่อตอปก่า อยู่กับป่า รักษาป่า อยู่กับน้ำ รักษาน้ำ”  คำสอนที่คนกะเหรี่ยงยึดถือและสืบทอดต่อกันมา จึงทำให้วันนี้ป่าที่รายล้อมหมู่บ้านอันสงบเงียบกลางหุบเขา ยังสามารถคงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่า น้ำ และอาหารการกิน ล้วนเกิดจากความรักของคนที่นี่กับป่าที่พวกเขาอิงอาศัยอยู่มานานนับร้อยปี