“3 ปัญหาเก่า 2 ความท้าทายใหม่” การศึกษาไทย...รออะไรจากรัฐบาลใหม่



นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์  นักวิจัย นโยบายด้านการปฎิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า หากประเทศไทยเกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า ก็จะเหลืออีกไม่ถึงหนึ่งร้อย  ในช่วงนี้จึงมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ติดตามมากขึ้นทุกขณะ  ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งคือ แต่ละพรรคจะมีนโยบายในด้านการศึกษาอย่างไร  เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่มักถูกถือว่าเป็นรากเหง้าของปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาการเมืองตลอดจนปัญหาคอร์รัปชัน    

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามาตลอด โดยมีความเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เป็นต้น   ทว่า “3 ปัญหาเก่า” ก็ยังมีอยู่เช่นเดิม ซึ่งสะท้อนว่าวิกฤตการศึกษาไทยยังดำรงอยู่ ได้แก่

คุณภาพนักเรียนตกต่ำ ผลสอบ PISA ในปี 2015 สะท้อนว่า นักเรียนไทยจำนวนมากไม่สามารถอ่านจับใจความ และประยุกต์ความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้   นอกจากผลสอบแล้ว นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่าร้อยละ 60 ยังไม่รู้ว่าอยากเรียนต่อหรืออยากทำงานด้านใด และนักเรียนที่จบอาชีวศึกษาจำนวนมากก็มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

ความเหลื่อมล้ำสูง จากการสำรวจของ กสศ.  พบว่า เยาวชน 15-17 ปี ประมาณ 240,000 คน ไม่ได้เรียนต่อหลังจากสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากความยากจน   ส่วนที่มีโอกาสเรียนต่อ ก็มีทักษะต่างๆ เช่น การอ่านต่ำกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดี เทียบเท่ากับ 2.3 ถึง 3 ปีการศึกษา

ประสิทธิภาพต่ำ รัฐบาลไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี จนมีรายจ่ายสูงถึง 5.2 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2559  แต่ผลลัพธ์ทางการศึกษาของเด็กไทยกลับยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าใช้เวลาเรียนมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD แต่คะแนนสอบกลับต่ำกว่าทุกวิชา

ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้เพราะนโยบายยังขาดเสถียรภาพ   ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 21 คน นโยบายจึงเปลี่ยนไปตามรัฐมนตรีแต่ละคน ไม่มีจุดหมายร่วมกันอย่างชัดเจน  ภาคการเมืองมักเลือกใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น เช่น โครงการที่มุ่งให้เห็นผลเฉพาะหน้า (Quick Win)   

การใช้นโยบายมุ่งความสำเร็จระยะสั้นอาจมีผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ไม่เพียงพอให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา เพราะการพัฒนาคนต้องใช้เวลานานจึงจะเห็นผล   นอกจากนี้ เรายังขาดการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อประเมินว่านโยบายไหนได้ผล ทำให้ความล้มเหลวในอดีต ไม่นำไปสู่บทเรียนสำหรับอนาคต

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากระบวนการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นการสั่งการแบบบนลงล่าง (Top-down) โดยปราศจากการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง และมักกำหนดแนวทางปฏิบัติแบบเดียวกันทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดอุปสรรคในการนำไปปฏิบัติจริง เพราะผู้กำหนดนโยบายขาดความเข้าใจบริบทในแต่ละพื้นที่  ในขณะที่ผู้ปฏิบัติก็ไม่มีความเป็นเจ้าของและไม่เข้าใจหลักการของนโยบาย

เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทยให้สำเร็จ ภาคการเมืองควรให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการนโยบายที่แข็งแรง แทนการทำโครงการที่หวังผลเฉพาะหน้า โดยเริ่มจากเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานจาก “บนลงล่าง” เป็น “ร่วมมือ”  ที่สำคัญต้องมุ่งเน้นการกระจายอำนาจทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ และบุคลากร ไปที่หน้างาน โดยหน่วยงานรัฐในส่วนกลางเปลี่ยนบทบาทจากการบังคับควบคุม ไปสู่การส่งเสริมให้แต่ละโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม นโยบายการศึกษาที่จะสามารถแก้ปัญหาได้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีเสถียรภาพในตัวนโยบายเอง  คงถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองต้องมองว่า นโยบายการศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกพรรคต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในระยะยาว ไม่ใช่การมุ่งแข่งขันกันในตลาดการเมืองในระยะสั้น และไม่ใช่นโยบายที่ไว้ค่อยกำหนดหลังจากเป็นรัฐบาลแล้ว  นอกจากนี้ การเลือกรัฐมนตรีควรพิจารณาผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบการศึกษา และมีความเปิดกว้างในการรับฟัง โดยให้โอกาสในการดำรงตำแหน่งยาวนานพอเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน

นอกจาก “3 ปัญหาเก่า” ที่จำเป็นต้องแก้ไขแล้ว ยังมีอีก “2 ความท้าทายใหม่” ที่รอต้อนรับรัฐบาลในอนาคตอยู่ ได้แก่ การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ซึ่งเรียกร้องให้ระบบการศึกษาไทยต้องตอบโจทย์การเพิ่มความพร้อมของคนไทยทุกช่วงวัยให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมใช้ชีวิตและสร้างคุณค่าในโลกที่เปลี่ยนแปลง

 นอกจากพรรคการเมืองแล้ว อีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยสร้างเสถียรภาพของนโยบายการศึกษาคือ “ภาคสังคม” โดยประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการกำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศ   

จากแนวคิดดังกล่าว TEP จึงจัดเวทีให้พรรคการเมืองและประชาชนร่วมกันหาแนวทางการกำหนดนโยบายในการปฏิรูปการศึกษา ในงานเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บ่ายวันอาทิตย์ที่ 2 ธ.ค. นี้  ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook: TDRI.thailand หรือ TEPThaiEDU  หรืลงทะเบียนได้ที่ https://www.eventbrite.com/e/52695983104