“อธิบดีท้องถิ่น” นำสถานธนานุบาล อปท.ทอดกฐิน 2 ล้าน

“อธิบดีท้องถิ่น” นำสถานธนานุบาล อปท.ทอดกฐิน 2 ล้าน สถานธนานุบาล อปท. ทอดกฐินสามัคคี ยอดเงินร่วม 2 ล้านบาท 

วันที่ 17 พ.ย.2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะประธานกรรมการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคีของสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2561 โดยมี นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายศวัส สุขชมทอง ประธานชมรมพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ตรวจการภาคและเขตต่างๆของสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ณ วัดแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

โดยในพิธีทอดกฐินสามัคคีของสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2561 นี้ มีพระอธิการภิญโญ ปักฺกโม เจ้าอาวาสวัดแหลมงอบ พร้อมด้วยคณะสงฆ์อีก 11 รูป เข้าร่วมพิธี พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ ดร.วันดี ได้ถวายเครื่องกฐินแด่พระสงฆ์ และชมรมพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ ซึ่งการทอดพระกฐินสามัคคีครั้งนี้ ได้ยอดจำนวนเงินที่มีผู้บริจาคร่วมถวาย เป็นจำนวนเงิน 1,801,365 บาท (หนึ่งล้านแปดแสนหนึ่งพันสามร้อยหกสิบห้าบาทถ้วน) ทั้งยังขอปวารณาถวายจัตุปัจจัยให้แก่โรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม โรงเรียนชุมชนแหลมงอบ และโรงเรียนตราษตระการคุณ จำนวน 30,000 บาท อีกด้วย

หลังเสร็จพิธีทอดกฐินสามัคคี อธิบดีได้ฝากถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงโครงการ “ท้องถิ่นไทย ร่วมใจ ลดปริมาณและคัดแยกขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกครัวเรือน” โดยเชิญชวนให้ทุกครัวเรือน ดำเนินการจัดตั้ง “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” ให้ครบทุกครัวเรือนในพื้นที่ กรณีครัวเรือนหรือ สถานที่ที่ไม่มีพื้นที่ในการดำเนินการจัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” ได้เอง เช่น ชุมชนเมือง ทาวน์เฮาส์ อาคารชุด ฯลฯ ก็ให้จัดหาจุดรวบรวมขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน อย่างน้อย 1 จุด หรือ ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องกำหนดจุดรวบรวมหลายจุด ให้กำหนดจุดรวมขยะเปียก เช่น จุดที่ 1 จุดรวบรวมสำหรับบ้านเลขที่ 1 – 50 จุดที่ 2 จุดรวบรวมสำหรับบ้านเลขที่ 51 – 100 

รวมถึงโครงการ “1 อปท. 1 ถนนท้องถิ่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ที่กรมฯ จัดขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชนในปี พ.ศ. 2562 โดยให้ อปท.ดำเนินการสำรวจ และคัดเลือกถนนที่อยู่ในพื้นที่จำนวน 1 สายทาง ความยาวระยะทางไม่น้อยกว่า 500 เมตร และกว้าง 3 - 6 เมตร หรือถนนที่เป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาพัฒนา ปรับปรุง ดูแล และรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณถนน ภายใต้การมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ โดยให้พิจารณาปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ หรือไม้ยืนต้นประจำท้องถิ่น/อำเภอ/จังหวัด ให้ดูร่มรื่น และสวยงามทั้งสองข้างทางถนน ปรับปรุงทิวทัศน์สองข้างทางให้สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชุมชน หรือเอกลักษณ์ของชุมชน โดยให้มีการดูแลสิ่งแวดล้อมของถนนอย่างเป็นระบบ เช่น กระบวนการรักษาความสะอาด การจัดเก็บขยะ การคัดแยกขยะ หรือบริเวณไหล่ทาง หรือสองข้างทางของถนน ก็ควรมีการจัดระบบการระบายน้ำโดยใช้หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด)ด้วย โดยให้ดำเนินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561นี้

นอกจากนี้ อธิบดีได้กล่าวถึงโครงการ วัด – ประชา – รัฐ - สร้างสุข : พัฒนาวัดตามแนวทาง 5ส ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมเชิงพุทธ ที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสัมพันธภาพที่ดี ให้เกิดขึ้นระหว่างวัดกับชุมชน ทำให้พระมีสุขภาพแข็งแรง วัดมีความมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยที่ผ่านมาในระยะแรกนั้น ได้กำหนดให้ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอย่างน้อย 1 วัดเข้าร่วมโครงการฯ เว้นแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่มีวัดอยู่ในพื้นที่ ก็ให้คัดเลือกศาสนสถาน ของศาสนานั้นดำเนินการตามโครงการฯ แทน โดยอนุโลมให้ สอดคล้องกับหลักของศาสนานั้นๆ และในระยะที่ 2 ก็ได้มีการชิญชวนให้ทุก อปท. เพิ่มจำนวนวัด หรือศาสนสถานอีก 1 แห่ง นั่นหมายความว่า ภายในปี 2562 ทุก อปท. จะมีศาสนสถานที่เข้าร่วมโครงการ อย่างน้อย 2 ศาสนสถาน และความสำเร็จต่างๆ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนต่อไปด้วย