WHO ประกาศ ให้ โรคติดเกม เป็นโรคทางจิตเวช

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ โรคติดเกม เป็นหนึ่งโรคทางจิตเวช เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก

ประเทศไทย คาดการณ์ว่ามีเด็กติดเกมและมีเด็กเสี่ยงติดเกม ประมาณ 2 ล้านคน
โรคติดเกม (Gaming Disorder) คือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการเสพติดในทางสมอง มีลักษณะคล้ายการติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต

อาการสำคัญ คือ
- ใช้เวลาเล่นนานเกินไป
- ขาดการควบคุมตนเองในการใช้ชีวิตปกติ เช่น การกิน การนอน
- เสียหน้าที่การเรียนและการงาน

ผลของการติดเกมในแต่ละช่วงจะมีผลที่ต่างกัน ดังนี้

- เด็กก่อนวัยเรียน จะเกิดสมาธิสั้น ขาดทักษะการเข้าสังคม พัฒนาการช้า
- เด็กวัยเรียน ทำให้อ้วน สายตาสั้น มีอารมณ์รุนแรง ติดเกม ขาดวินัยทางการเรียน
- เด็กวัยรุ่น มีค่านิยม พฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไป ติดค่านิยมบริโภค ถูกรังแก ถูกล่อลวงง่าย

หากปัญหานี้ เกิดขึ้นกับครอบครัวโดยเฉพาะลูกน้อยเราจะป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร
การที่ลูกอยู่นิ่ง ๆ ไม่ซุกซน เพราะเอาแต่นั่งเล่นเกมในแท็บเล็ต หรือในคอมพิวเตอร์ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี ดังนั้นควรให้ลูกเล่นอย่างพอดี เล่นในเวลาที่เหมาะสม และจำกัดเวลาในการเล่น ก็จะช่วยเสริมทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้อย่างถูกต้อง ตามแนวทางนี้
- ให้ลูกได้จับหรือเล่นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เมื่ออายุ 4 ขวบขึ้นไป
- เวลาเล่นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยแนะนำอยู่ข้าง ๆ และควรเลือกเกมที่เหมาะสมกับวัย ไม่มีความรุนแรง ควรเป็นเกมที่เสริมพัฒนาการของลูก
- จำกัดเวลาในการเล่น ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง/วัน ไม่ควรให้เล่นก่อนนอนเพราะจะเป็นการกระตุ้นอารมณ์ให้นอนหลับยากมากขึ้น
- การรักษาแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการว่ามีภาวะติดเกมแค่ไหน จะได้ประเมินการรักษาได้ถูกต้อง ซึ่งการรักษาจะเริ่มตั้งแต่ พูดคุยให้คำปรึกษา แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนไปถึงการให้ยา