สธ. จับมือไจก้า พัฒนาระบบบริการสังคมผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ

กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับไจก้า ศึกษาระบบการดูแลสุขภาพและการให้บริการสังคมผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อในโรงพยาบาล 7 จังหวัด ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤติสำหรับประเทศไทย
         

 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายอาคิโอะ โคอิเดะ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการดูแลสุขภาพและการให้บริการสังคมผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ กระทรวงสุขภาพแรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะ ว่า ตามที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการในการพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้สูงอายุ โครงการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย เพื่อบูรณาการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม รวมทั้งได้มีการลงนามความร่วมมือการดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง และกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเรื่องการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ  “รูปแบบบริการ” ได้รับการพัฒนาและนำไปใช้ในพื้นที่โครงการนำร่อง และมีการพัฒนา “หลักสูตรการอบรมสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ประสานงาน”
         

 จากผลสำเร็จของความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือดำเนินโครงการดูแลสุขภาพและการให้บริการสังคมผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ ระยะเวลา 5 ปี (ตุลาคม 2560-31 สิงหาคม 2564) เพื่อให้มีรูปแบบบริการสังคมผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรเชี่ยวชาญ และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาลในการจัดบริการของประเทศ ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสำรวจโรงพยาบาลในเขตต่าง ๆ และได้คัดเลือกพื้นที่นำร่อง 7 แห่งทุกภาค ได้แก่  จ.เชียงใหม่  ขอนแก่น นครราชสีมา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร  ชลบุรี  และสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบในระยะต่อไป

       

“การมีผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Care Manager : CM)  มีส่วนช่วยให้การบริการมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ซึ่งไทยจะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เช่น ทีมหมอครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุขกว่าล้านคนมาเพิ่มความรู้ด้านสุขภาพให้มากขึ้น เสริมความเข้มแข็งของทีมคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) เพื่อการดูแลสุขภาพในชุมชน ล่าสุดไปที่ จ.เชียงราย ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข พบว่าสามารถช่วยควบคุมโรคที่มีปัญหาจากพฤติกรรมเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ได้เป็นอย่างดี และมีการตั้งมหาวิทยาลัยสำหรับผู้สูงอายุ ให้สามารถเลือกเรียนตามประเด็นที่สนใจ” นายแพทย์สุขุมกล่าว
         

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ประกอบด้วย 1.การฝึกอบรมสมาชิกโครงการ ณ ประเทศญี่ปุ่น 2 หลักสูตรคือ Intermediate Care & Seamless Care Training in Nagoya & Saku จำนวน 15 ราย และ Policy for Seamless Care Training in Hokkaido จำนวน 10 ราย 2.การอบรมในประเทศไทย ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของไทยและญี่ปุ่น เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่  3.การพัฒนารูปแบบบริการแบบไร้รอยต่อในพื้นที่นำร่องให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 4.การเก็บรวบรวมการดำเนินกิจกรรมและวิเคราะห์ข้อมูล  และ 5.การประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในระดับประเทศ