พระผงวัดพลับ ปีพ.ศ.2516


0...ขึ้นชื่อว่าพระวัดพลับ นักสะสมพระจะนึกถึงพระผงองค์น้อยที่มีเนื้อหามวลสารจัด ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างโดยสมเด็จพระสังฆราช(สุก)ไก่เถื่อน ซึ่งเป็นผู้สร้างสมเด็จอรหัง ซึ่งเป็นต้นแบบของพระสมเด็จชิ้นฟักและเชื่อกันว่าท่านเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี ผู้สร้างพระสมเด็จอันโด่งดังและมีราคาแพงจนจับต้องได้ยากในปัจจุบันสำหรับนักสะสมที่มีกำลังทรัพย์น้อย 
 
0...มาชมพระผงวัดพลับ ปีพ.ศ.2516 ซึ่งหลวงตาเหลือ แห่งวัดราชสิทธารามหรือวัดพลับได้รวบรวมผงเก่าส่วนใหญ่มาจากเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรีตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วนำผงแป้งดังกล่าวมาปั้นเป็นแท่งและลบผงให้เป็นผงวิเศษทั้ง 5 แล้วมาผสมผงเก่าของพระวัดพลับที่แตกกรุมาจำนวนมากมาบดผสมเนื้อพระโดยมีพระมหาบรรจงเป็นผู้กดพิมพ์พระในช่วงปีพ.ศ.2514-พ.ศ.2516 เป็นระยะเวลา 2 ปี เมื่อกดพิมพ์แล้วเสร็จได้ไปอาราธนา หลวงปู่โต๊ะปลุกเสกตลอดไตรมาสและ ได้นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ของวัดพลับในปีพ.ศ. 2516 โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นองค์ประธานในพิธี และส่วนใหญ่ด้านหลังจะมีหมึกแดงปั๊ม(บางองค์ก็ไม่ปั๊ม) 


 
0...หลังจากพิธีปลุกเสกแล้วก็ได้นำมาเตรียมบรรจุในฐานพระ แต่ผู้จัดสร้างได้ลาสึกจากเพศบรรพชิตเสียก่อน พระที่สร้างจึงค้างอยู่ที่วัด โดยมีพระเถระรูปหนึ่งท่านเก็บรักษามาเกือบ 40 ปี พระผงวัดพลับรุ่นนี้ส่วนหนึ่งหลวงปู่โต๊ะท่านได้นำไปแจกที่วัดถ้ำสิงห์โตทองจ.ราชบุรีด้วย 
 
  0...โดยรวมแล้ว พระผงวัดพลับชุดนี้ซึ่งเริ่มสร้างในปีพ.ศ.2514 มาเสร็จสิ้นปีพ.ศ.2516 และได้รับการปลุกเสกโดยหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ก่อนจะนำมาออกให้บูชาอีกครั้งในปี พ.ศ.2534เพื่อฉลองในงานอนุสรณ์ครบรอบ169ปี สมเด็จพระสังฆราชสุก(ไก่เถื่อน) ถือเป็นของดีราคาถูกมากยังอยู่ที่หลักร้อยถึงหลักพันเศษสำหรับพิมพ์วันทาเสมาสวยๆเท่านั้น แถมพุทธคุณครบเครื่องทั้งเมตตา แคล้วคลาดครับ 
 


0...และมีเรื่องเล่าว่ามีผู้นำผงแป้งที่ได้มาจากเมืองอู่ทองก่อนที่จะมอบให้หลวงตาเหลือ มาลบเป็นผงวิเศษนั้น ได้ให้หลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี ตรวจสอบ ซึ่งหลวงพ่อครื้นท่านบอกว่า มีพุทธคุณดีมาก(หลวงพ่อวัดปากน้ำได้กล่าวยกย่องหลวงพ่อครื้นว่า  ท่านเป็นพระผู้มีอิทธิฤทธิ์ประหนึ่งพระโมคคัลลานะ)  

 
0...วัดพลับหรือวัดราชสิทธาราม เป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีความสำคัญขึ้นมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างวัดใหม่อีกแห่งขึ้นติดกับวัดพลับ แล้วโปรดให้รวมเป็นวัดเดียวกันเพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระญาณสังวรเถร (สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ทรงเคารพเลื่อมใสและโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์มาศึกษากรรมฐานกับพระญาณสังวรเถร ทำให้วัดราชสิทธารามเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญมาแต่ครั้งนั้น  


0...แม้ต่อมาพระญาณสังวรเถร จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช ย้ายไปประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ศิษย์ของพระองค์ยังคงสืบทอดกรรมฐาน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บูรณะและสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม เช่น พระเจดีย์ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และตำหนักเก๋งจีน และพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชสิทธารามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2374 โดยเฉพาะพระเจดีย์นั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้บูรณะและพระราชทานนามว่า พระสิริจุมภฏะเจดีย์ 
 
จากกันด้วยข้อคิด “ ชีวิตมนุษย์ต้องพบกับอุปสรรค เฉกเช่น ชาวประมงย่อมต้องพบคลื่นลมในทะเล ฉันใดฉันนั้น” 

 

เขียน:นายกองตรีอ้วน [email protected]