ประชาชน – หุ้นส่วนประเทศต้องแสดงออก



เนื้อหาชิ้นแรก ก็ต้องมีไหว้ครูเป็นธรรมเนียม ขอบคุณมิตรในวงการข่าวที่สัมพันธ์กันมาหลายสิบปีอย่าง “คุณจารุนันท์ ธนะภพ” ที่เปิดพื้นที่ของ “คนข่าว” ให้ได้มีโอกาสลับคมความคิด ประสบการณ์ ในวัยเหยียบจะ 50 ปี เพื่อนำเสนอข้อมูล ความคิด  แลกเปลี่ยนกับมิตรรัก ผู้ติดตามเว็ปไซต์ “คนข่าว”  

เดิมทีชีวิตของ “อัสดง ทิวสน” ในฐานะคนข่าว ก็จะฝังตัวอยู่ในแวดวงข่าวการเมืองเป็นด้านหลัก มีจับผลัดจับผลูได้ดูข่าวเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้จับติดเกาะลึกอะไร นามปากกา “อัสดง ทิวสน” นี่ก็ตั้งไว้สมัยเป็นบรรณาธิการ นิตยสารอาทิตย์ ยุคปฏิวัติจิตวิญญาณ ที่ คุณสนธิญาณ หนูแก้ว (นามสกุลครั้งกระนั้น) ขออนุญาติ เอาหัวหนังสือจาก คุณชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ มาทำต่อหลังจากที่คุณชัชรินทร์  ประกาศเลิกทำ

“อัสดง ทิวสน”กลับมาอีกครั้งในเว็ป “คนข่าว”เพราะเชื่อว่า ข้อมูลประสบการณ์ที่สั่งสมในวงการข่าวมา แม้จะไม่ได้อยู่ในภาคสนามเหมือนสมัยเป็นนักข่าวรัฐสภาต้องวิ่งเฝ้าพรรคชาติพัฒนายุค “พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ” แต่เวลาและเส้นทางชีวิตที่ผ่านเจออะไรมาพอสมควรก็ขัดเกลามุมมอง ความคิด จนน่าที่จะมีอะไรมาเล่าสู่กันฟังได้แล้วกระมัง

แน่นอนเรื่องที่จะเอามาเล่าสู่กันฟัง ก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เป็นข้อจริง ข้อมูล เพราะถ้าจะเอาเรื่องเท็จมาเล่า มาดราม่ากัน ก็น่าจะเป็นการเสียเวลาชีวิตของ “อัสดง ทิวสน” ซึ่งหัวเด็ดตีนขาด ยืนยันว่า ไม่ทำ !!!

ไหว้ครูกันไปแล้ว ก็เข้าเรื่องเข้าราวกันเสียที ประเดิมเริ่มกันให้เข้ากับสถานการณ์ ก็อยากจะพาไปดู อีเว้นท์ของ กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานที่จริงๆ ก็หน้าตาวนเวียนกันอยู่ไม่กี่คน

ประเด็นพลังงาน วันนี้กลายเป็นประเด็นประชานิยมที่ค่อนข้างใกล้ตัวเพราะน้ำมันแพง ก๊าซขึ้นราคา เสียงบ่นก็ดังเซ็งแซ่ ปลุกกระแสกันได้ง่ายๆเหมือนกัน

เมื่อวันที่ 18 กันยายน เวลาสักประมาณ 09.30 น. กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ  (คปป.) นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี  ยกขบวนกันไป 20-30 คน ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยับยั้งการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ – บงกช ที่กำลังจะยื่นซองกันวันที่ 25 กันยายนนี้ ออกไปอีก 1 - 2 เดือน แล้วก็ขอให้แก้ไขหลักเกณฑ์ TOR เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งสรุปรวมๆ ง่ายๆก็คือ แก้ตามข้อเสนอของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานเรียกร้องกันนั้นแหละ ซึ่งจุดหมายปลายทางก็น่าจะไปจบที่การมี “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ที่มีคนระดับหัวกระทิ มีแนวคิดปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ-ประชาชน (อันนี้คุ้นๆว่าใครๆก็มักจะอ้างวาทกรรมนี้)เข้าไปทำหน้าที่แทนหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือ อาจจะรวมไปถึงภารกิจบางส่วนของ ปตท.

เข้าใจว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่ม คปป.ก็จะเป็นแนวร่วมกับกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค พรรคพลังธรรมใหม่ ล่าสุดก็มีพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี คุณกรณ์ จาติกวณิช ออกมาหยิบประเด็นพลังงาน พุ่งเป้าไปที่ ปตท. องค์กรโจทย์เยอะตามคำจำกัดความของมนูญ ศิริวรรณ

อันที่จริง “อัสดง ทิวสน” นั่น เชื่อในทฤษฏีพหุสังคม ที่มีหลักการว่า สังคมประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายผลประโยชน์ แล้วเมื่อมีประเด็นผลประโยชน์ ให้ต้องปะทะสังสรรค์กัน แต่ละกลุ่มก็จะต้องงัดข้อมูล ทรัพยากรที่แต่ละกลุ่มมีออกมาหักล้าง ต่อสู้ ต่อรองกัน ถึงที่สุดตามทฤษฏี ผลประโยชน์ที่ลงตัวก็จะทำให้ประเด็นผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันนั้น คลี่คลายลงได้ 

ผลประโยชน์ที่ลงตัวนี้ ไม่ใข่ว่า หมายถึงการ แบ่งเท่าๆ กัน น่ะ แต่เป็นการแบ่งตามสัดส่วนอำนาจต่อรองของแต่ละกลุ่มผลประโยชน์

ตามทฤษฏีว่า เมื่อ มีความขัดแย้ง ปะทะสังสรรค์กันแล้วส่วนใหญ่ก็จะคลี่คลายไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ???

ยุคหนึ่งมีคำกล่าวว่า เพราะระบอบทักษิณกินรวบ ไม่แบ่งใคร จึงทำให้กลุ่มทุนที่ไม่ได้แบ่ง กลุ่มสังคมที่เสียประโยชน์เฮโลสาระพา ร่วมกองกฐินล้มระบอบทักษิณ จนวันนี้ก็ยังกลายเป็นปัญหาคาราคาซังของบ้านเมือง

         

มองในแง่ประเด็นพลังงานก็เป็นไปได้ว่า การแบ่งสรรผลประโยชน์ยังไม่ลงตัวในกลุ่มผลประโยชน์ อันนี้อยากให้มองในแง่ Stakeholder  เพื่อจะได้ไม่รู้สึกเป็นอริกันมากนัก คือประมาณว่า ในธุรกิจพลังงงานน่าจะมีการกินรวบ หรือมีแนวโน้มว่ากำลังจะกินรวบ กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆเลยต้องออกมาฮึ่มๆ เพื่อให้มาคุยหาทางออก

SCG ว่าไง, กลุ่ม Gulf ว่าไง คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ว่าไง คุณรสนา โตสิตระกูลว่าไง ผู้บริหารสื่อค่ายผู้จัดการว่าไง แล้วถึงที่สุดจะคลี่คลายไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นเหมือนทฤษฎีว่าไว้หรือเปล่า

“อัสดง ทิวสน” มีประสบการณ์ตรงเลยสมัยที่มีการรณรงค์เอาเงินภาษีบาป มาตั้ง ทีวีสาธารณะ หรือ ไทยพีบีเอส ในทุกวันนี้

ช่วงแรกของการรณรงค์ให้จัดตั้ง หัวขบวนคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  แห่ง TDRI แต่คนที่ค้านหัวชนฝาในช่วงแรกเลยนั้น ก็คือบรรดาคนที่เข้าไปนั่งเป็นผู้บริหารมั่ง เป็นทีมงานฝ่ายข่าวมั่ง ถ้าไล่รายชื่อก็คงกินพื้นที่ ทำให้เนื้อหาข่าวชิ้นนี้เยอะไม่น่าอ่านอีก เอาเป็นว่าตั้งแต่ตั้ง สถานีโทรทัศน์  ITV มาจนถึง TPBS ใครอยากรู้ประวัติความเป็นมา ทำขึ้นไม่ขึ้น เจ๊งไปกี่มากน้อยก็ลองค้น Google ดูได้ไม่ยาก

มาวันนี้ก็เหมือนกัน กับเรื่องพลังงานที่กำลังทะเลาะกันฝุ่นตลบ ต่างคนต่างกลุ่มมีวาระเบื้องหลังที่กระโจนกันเข้ามา ถึงที่สุด ยกตัวอย่าง สมมติมีการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมา เชื่อขนมกินได้เลยว่า แกนนำในการเคลื่อนไหวเข้าไปนั่งทำงานในบรรษัทที่ว่านี้แน่นอน

แล้วหุ้นส่วนสำคัญ คือ  Stakeholder ที่เป็นประชาชนอย่าง เราๆ ท่านๆ ได้อะไรกับเค้ามั่งไหม ???

ถ้าเป็นเมื่อก่อน “อัสดง ทิวสน”  อาจจะจบด้วยประโยค ตั้งเป็นคำถามแค่นั้น แต่วันนี้ไม่ใช่ เพราะประชาชนในฐานะหุ้นส่วนประเทศ พวกเรามีพลังอำนาจที่จะแสดงการมีส่วนร่วม กำหนดทิศทางได้

ทุกคนมีเฟซบุ๊ก มีไลน์  เพียงแต่คิดวิเคราะห์แยกแยะ ไม่ใช่เชื่อคนนำอย่างเดียว ทุกคนสามารถเขียนโพสต์แสดงความเห็น เคลื่อนไหวไปตามส่วนที่ตัวเองเป็น ทำซ้ำๆ ผลิตประเด็นใหม่ๆ ทำแล้วส่งให้เพื่อน แชร์ต่อให้เครือข่าย พลังก็เกิด แรงกระเพื่อมก็ต้องมี

อย่าปล่อยให้สังคมประเทศเคลื่อนไปหรืออยู่ในมือคนไม่กี่คน !

 

 เขียน:อัสดง ทิวสน

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ