นายกฯ ถกบอร์ดบีโอไอ เห็นชอบ 4 โครงการใหญ่ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.6 แสนล.

วันนี้ (13 ก.ย.61) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 4/2561 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้
 
ที่ประชุมได้พิจารณาให้การส่งเสริมโครงการลงทุนจำนวน 4 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 167,679 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ 1 บริษัท สยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ลดการใช้น้ำมันและการปล่อยมลพิษเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโรใหม่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,973 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศปีละกว่า 2,632.6 ล้านบาท และช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย 
 
โครงการที่ 2 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป เงินลงทุนทั้งสิ้น 156,621 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะเพิ่มความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและเมืองการบินของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว โดยรองรับความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่เพิ่มขึ้น และยังจะช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นอีกด้วย
 


โครงการที่ 3 บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 60 เมกะวัตต์และไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,105 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดปทุมธานี โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งนำอากาศเสียที่มีความร้อนสูงมาใช้ต่อ จึงช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย
 
โครงการที่ 4 บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 57 เมกะวัตต์และไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,980 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งนำอากาศเสียที่มีความร้อนสูงมาใช้ต่อ  จึงช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการประชุมหารือแนวทางการพิจารณาให้การส่งเสริมกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ที่เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อoและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ เร่งจัดทำร่างหลักเกณฑ์การพิจารณาความเป็นเมืองอัจฉริยะทั้ง 6 ด้าน โดยให้พิจารณาทั้งกรณีภาครัฐหรือภาคเอกชนเป็นเจ้าของโครงการ และให้ส่งร่างหลักเกณฑ์ให้ สกท. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้การส่งเสริม  พร้อมกับให้ สกท. พิจารณาให้สิทธิและประโยชน์โดยคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ อาทิ ประโยชน์ของโครงการต่อสาธารณะ ลักษณะโครงการ เช่น เป็นโครงการสร้างเมืองใหม่ หรือฟื้นฟูเมืองเดิม เป็นต้น ระดับของเทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการ เช่น เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้มาก่อนในประเทศไทย หรือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น และลักษณะของระบบอัจฉริยะที่ใช้ในโครงการ

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ