"สำโรง" จ.อุบลราชธานีต้นแบบการจัดการน้ำระดับตำบล



 ในทุกๆ หน้าแล้งโดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตตำบลสำโรง ที่ประกอบด้วย 5 หมู่บ้านคือ บ้านนาห้าง  บ้านโนนศาลา  บ้านนาขาม  บ้านนาเจริญ และบ้านผาชัน จะประสบปัญหาน้ำแล้ง  อันมีผลสืบเนื่องมาจากสภาพพื้นที่ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น คือมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับภูเขา และพื้นที่โคกสลับดอน ซึ่งทั้งสองลักษณะล้วนเป็นปัญหาต่อการกักเก็บน้ำ กล่าวคือ พื้นที่ภูเขา ซึ่งเป็นหิน มีความลาดเอียง ทำให้ไม่สามารถดูดซับน้ำได้

ขณะที่พื้นที่โคกสลับดอน  มีลักษณะแบบลอนลูกคลื่นสูงสลับต่ำ เดิมเคยเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง  กระทั่งมีการบุกเบิกที่ทำกิน คงเหลือที่เป็นป่าเสื่อมโทรมและเป็นป่าหัวไร่ปลายนา ทำให้แหล่งน้ำในพื้นที่ไม่สามารถรับรองน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  ขณะที่สภาพดินก็เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ 

และในส่วนของการทำเกษตร ชาวบ้านอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ได้แก่ น้ำตกแซใหญ่ ฝายอีแล้ง วังตลาด ฝายภูหินเหล็กไฟ หนองโป่งบก สระทุง ห้วยบง ห้วยไร่ ห้วยม่วง ห้วยหินฮาว ห้วยฉลอง ห้วยซาง อ่างร่องคันแยง ฝายหลวง ห้วยบง และยังมีแหล่งน้ำหรือสระน้ำของครัวเรือนบางส่วน

ดูเหมือนว่า ชาวบ้านมีแหล่งน้ำมากมายรายรอบ แต่พอถึงช่วงแล้ง ต้องอาศัยน้ำจากองค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง แต่ยังขาดน้ำสำหรับทำการเกษตรทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายและไม่ได้ผลการผลิตเท่าที่ควร

“เคยมีหน่วยงานราชการมาส่งเสริม มีบริษัทมาแนะนำให้ปลูกต้นยูคาลิปตัส มาส่งเสริมแบบไม่ถูกกับสภาพพื้นที่ ทำให้ดินเสียเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะต้นยูคาลิปตัสกินน้ำเยอะ”

ศึกษาพื้นที่ เพื่อหารูปแบบการจัดการน้ำ

“เหมือนกับว่าเรามีพื้นที่อยู่ แต่เราบริหารจัดการน้ำไม่ตรงตามลักษณะของพื้นที่”  นี่คือประเด็นที่นายบิน คงทน กำนันตำบลสำโรงซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยร่วมในโครงการ การจัดการความรู้และการขยายผลการบริหารจัดการน้ำจากระดับหมู่บ้านสู่ระดับตำบลของตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี  สงสัยและตั้งข้อสังเกต

“เพราะพื้นที่บ้านเรา มันมีทั้ง ที่สูง  ที่ต่ำ ที่ราบ  พื้นที่เอียง และที่เป็นภูเขา มีดินร่วน ดินทราย ดินที่เหมาะและไม่เหมาะกับการปลูกข้าว แต่น่าจะเหมาะกับการปลูกพืชอย่างอื่นแต่ก็ยังไม่รู้ว่าปลูกอะไรได้บ้าง  หมายความว่ามันเหมาะสมกับการปลูกพืชคนละแบบ พื้นที่ที่เหมาะสมจะทำนาก็มี พื้นที่ที่เหมาะสมจะปลูกยางก็มี แต่บังเอิญว่าคนบ้านเรามีความรู้แค่การทำนาเพียงอย่างเดียว พอทำนาอย่างเดียวแล้วก็เจอปัญหาน้ำเพื่อการเกษตรไม่มีใช้ เพราะอาศัยแต่น้ำฝน”

ในขั้นตอนแรกของการทำงานวิจัย ชาวบ้านจึงร่วมกันศึกษาสภาพของพื้นทีในตำบลสำโรง ด้วยการแบ่งงานวิจัยย่อยออกเป็น 5 โครงการ 5 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้าน มีโจทย์สำคัญคือศึกษาลักษณะของพื้นที่ตัวเองว่าอยู่สภาพภูมิประเทศแบบไหน  มีแหล่งน้ำกี่แบบ ลักษณะของดิน และชนิดพืชที่ปลูก ทั้งหมดก็เพื่อน้ำมาวางแผนการจัดการเรื่องน้ำให้เพียงพอกับการดำเนินชีวิต

“เป้าหมายของผมอยากจะให้เกิดรูปแบบการบริหารจัดการน้ำเหมาะสมกับพื้นที่ เพราะฉะนั้นเราต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เราต้องเอาองค์ความรู้จากในอดีตมาดูก่อน ท่านทำอย่างไร เอาน้ำมาจากไหนในการทำนา ต้องเก็บข้อมูลแล้วมาวิเคราะห์ ข้อมูลเรื่องน้ำ ข้อมูลเรื่องการเกษตร เพื่อให้รู้ว่าน้ำมีเท่าไร การปลูกการเกษตรใช้น้ำเท่าไร มันเหมาะสมกันไหม”

ผลจากการเก็บข้อมูลทำให้รู้ว่า ชุมชนบ้านนาห้าง มีความรู้ความเข้าในการขยายผลการจัดการน้ำมากขึ้นโดยผ่านโมเดลกระบวนการจัดการน้ำ และที่ชุมชนบ้านนาเจริญ ใช้รูปแบบการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำคือการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการปลูกป่าทดแทน สำหรับชุมชนบ้านนาขาม ใช้รูปแบบการจัดการชลประทานระบบท่อที่ต่อจากวังตลาดโดยใช้ระบบการไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลก

ที่ชุมชนบ้านผาชัน ใช้รูปแบบการจัดการน้ำแบบแอร์แวหรือแอร์แวะ เป็นการปล่อยให้อากาศมันแวะเข้าไปในน้ำ ทำให้น้ำมีแรงดันมากขึ้น เป็นการใช้น้ำจากที่ลุ่ม มีความลึกและลาดชันสูง และชุมชนบ้านโนนศาลาใช้รูปแบบการจัดการน้ำแบบ เขื่อนผิวดิน คือเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำผิวดินโดยการขุดลองคลอง และการฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ต้องหันมาปลูกพืชที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำ

ภายใต้ข้อมูลและความรู้ที่หลากหลาย ทำให้พบว่า แต่ละพื้นที่มีองค์ความรู้ด้านระบบน้ำที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกชุมชนคล้ายกันคือ การทำเกษตรที่ไม่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำ กล่าวคือ บางพื้นที่ปลูกข้าวทั้ง ๆ ที่มีน้ำน้อย และสภาพดินไม่เอื้ออำนวย

“สรุปได้ว่าเขาทำนาในพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น แต่คนปัจจุบันทำนาในพื้นที่ที่เหมาะสมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมมันมีไม่กี่ไร่ พื้นที่ที่เป็นดอนเป็นโคกก็ต้องทำนา มันก็เลยเจอปัญหา ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าพื้นที่ดอนเหมาะกับปลูกพืชอย่างอื่น มันไม่เหมาะกับทำนา เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนมาปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และที่สำคัญต้องสัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่เรามี คือ ทางออกของที่ดีที่สุด” กำนันบิน สรุปข้อค้นพบจากงานวิจัย

“ผมพาทีมวิจัยและชาวบ้าน ไปขอคำแนะนำจากกรมพัฒนาที่ดิน เขาบอกว่ามีพื้นที่หนึ่งที่เขาทดลองปลูกมันอยู่คือที่จังหวัดมุกดาหาร ผมก็เลยพาทีมงานไปดู เขาให้แนวคิดว่าไร่หนึ่งสามารถทำเงินได้ไม่กว่า 5,000 บาท ถ้าทำได้ดีก็จะตกไร่ละหมื่น ผมก็เลยเอามาลองทำดู แนะนำให้ชาวบ้านทดลองปลูก เขาก็ไม่อยากปลูกนะ ต้องยืนยันนะว่าจะขายได้ ผมก็ต้องยืนยัน พอดีว่ามีเพื่อนคนหนึ่งมีรถหกล้อ ก็ให้เขาช่วยเอาไปขาย แต่บังเอิญว่าปลูกแล้ว เหมือนโชคเข้าข้าง โรงงานย้ายมามาเปิดในตำบลเรา ตอนนี้ชาวบ้านก็เริ่มปลูกมันสำปะหลังกันมากขึ้น”

นอกจากการปลูกมันสำปะหลัง ความรู้จากการศึกษาดูงาน นำไปสู่การทดลองวิเคราะห์สภาพดินในตำบล

“เราแยกการทดลองเป็นสามแบบ โดยแบบแรกดูว่า พื้นที่ที่เหมาะสมจากการทำนามันมีกี่คน แล้วเขาทำอย่างไร แบบที่สองคือปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ แบบที่สามคือการปรับปรุงดิน คือดูว่าสภาพดินที่เป็นอยู่พอจะปรับปรุงได้ ทำนา

ได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ไปปลูกพืชอย่างอื่นที่มันใช้น้ำน้อย พอทดลองทำแล้วก็ต้องเอาผลผลิตมาเทียบระหว่างพื้นที่ทำนา พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่มีน้ำแก้มลิง สามารถเอาน้ำมาทำนาได้มีกี่ที่ ผมก็เลยเอามาทดลองทำ...พอทดลองทำแล้วมันรู้ว่าผลผลิตมันแตกต่างกัน พื้นที่ดอนก็ได้ผลผลิตเหมือนกัน ทำให้มีรายได้เหมือนกัน เยอะกว่าการทำนาอีก”

ถึงวันนี้ ระบบการทำเกษตรของเกษตรในตำบลโพธิ์ไทรเปลี่ยนไป มีการเพิ่มพื้นทีปลูกมันสำปะหลังในปริมาณมากพอที่โรงงานมาเปิดลานมันรับซื้อผลผลิตของชาวบ้าน  บางพื้นที่มีการปลูกยางพารา แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งเรื่องการทำนาปลูกข้าว แต่เป็นการปลูกแบบนาน้ำฝน

หาแหล่งน้ำเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกให้มีมากกว่า 1 ชนิดตามสภาพดิน และสภาพพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณแหล่งน้ำของชุมชน แต่การหาแหล่งน้ำเพิ่มยังคงเป็นเรื่องจำเป็น  ซึ่งจากประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมาบวกกับชุดความรู้ที่เก็บรวบรวมจาก 5 หมู่บ้าน และโดยการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดที่สนับสนุนประมาณในการขุดลอกลำห้วย ทำฝายกันน้ำ กระทั้งชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างไม่คลาดแคลนอีกต่อไป

ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อน้ำดี ดินดี ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม การเตรียมความพร้อมเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการขยายพื้นที่เกษตรในอนาคตก็เป็นเรื่องจำเป็น

มันมีลำห้วยที่เรียกว่าแซใหญ่อยู่บนเขา น้ำตรงนั้นไหลทิ้งลงโขงทุกปี  มีแนวคิดจะทำฝายแล้วเจาะเป็นท่อเบี่ยงน้ำลงมา เวลาต้องการจะใช้ แนวคิดนี้ได้มาจากบ้านห้าง เวลาจะใช้ก็ไปเปิดน้ำเอามันจะไหลลงมา พอไปเปิดแบบนั้นก็วางไว้ 3 สาย 3 รู มีโซนดง โซนดอน โซนโคก อันนี้คือแนวคิด ตอนนี้ไปทำฝายข้างบนแล้ว ที่ทำนี่คือเป็นเขตอุทยาน ทำไว้ก่อนให้เขามาเห็นว่าถ้าใช้ได้ก็ทำต่อ”

จะเห็นว่า จากประสบการณ์ของทีมวิจัยชาวบ้านในตำบลสำโรง ค่อย ๆ คลี่คลายปัญหาไปที่ละเรื่อง แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานของ “ชุดข้อมูล” ที่มี ไม่ว่าจะเป็น “ความรู้เดิมของชุมชน” และ“ความรู้ใหม่”ที่รับมาจากหน่วยงานภายนอก

“ผมมองว่าเราคนเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ งานวิจัยเราเอาข้อมูลทั้งหมู่บ้านทั้งตำบลมาวิเคราะห์ และหาทางออกร่วมกัน เรื่องไหนเราไม่รู้ก็ปรึกษากับผู้รู้ แต่เราต้องจริงใจในการทำงาน เพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนอยู่ดีกินดี” 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ