สสว.ลงพื้นที่พัฒนาผู้ประกอบการต่อยอดความสำเร็จ

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุลผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่าหนึ่งในพันธกิจหลักของการดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี2561 นี้ คือการช่วยให้ผู้ประกอบการได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนจึงได้ปรับรูปแบบการดำเนินการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดยุคปัจจุบันที่ต้องบูรณาการศักยภาพของผู้ประกอบการในทุกมิติเพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยผสานความร่วมมือกับหน่วยร่วมและหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงลึกในหลายภูมิภาคของประเทศ

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หน่วยร่วมรับผิดชอบโครงการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัดจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 1,184 รายซึ่งทุกรายได้รับการอบรมความรู้พื้นฐานในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเครื่องมือดิจิทัลก่อนจะถูกคัดเลือกเพื่อเข้ารับการอบรมเขียนแผนธุรกิจ

โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพตรงตามเกณฑ์เข้าสู่การพัฒนาเชิงลึกจนสามารถนำสินค้าออกสู่ท้องตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนและเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือกประมาณ 150 รายทั้งนี้เพื่อบูรณาการการสนับสนุนแบบครบวงจร จึงได้จัดงานแสดงสินค้า“เทศกาลของดีภาคใต้ ครั้งที่ 2” ณ หาดใหญ่ฮอลล์ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ เมื่อเร็วๆนี้

เพื่อเป็นเวทีทดสอบจริงสำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกโดยภายในงานได้เปิดจำหน่ายสินค้าและทดสอบตลาดแบบออฟไลน์กว่า 150 บูธสร้างการเรียนรู้กลุ่มลูกค้าเพื่อค้นหาลูกค้าหลักของธุรกิจตนเองเพิ่มโอกาสต่อยอดทางธุรกิจผลักดันเข้าสู่ช่องทางการตลาดออนไลน์ในอนาคต

ทั้งนี้ ตลอดช่วงระยะเวลาการจัดงาน พบว่ามีคู่ค้าเข้าร่วมงาน 452 รายมูลค่าการซื้อขายและยอดสั่งซื้อรวมกว่า 7 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในภาคกลาง ยังเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างสสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางและส่วนจังหวัดโดย นายคันฉัตร ตันเสถียรผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ลงพื้นที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงครามพบว่าวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจรายย่อยในพื้นส่วนใหญ่เป็นภาคการเกษตรซึ่งในอดีตพื้นที่ชุมชนพึ่งพาวิถีการเกษตรเป็นหลักผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นจึงผลิตภัณฑ์เกษตรแบบดั้งเดิมและมีการแปรรูปตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับมูลค่าสินค้า

ดังนั้นหากมีการแปรรูปอย่างมีมาตรฐานรองรับ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยจะช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่น เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งการพัฒนาต้องคงความเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิมไว้เพื่อสร้างอัตลักษณ์และสามารถต่อยอดให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรควบคู่ไปกับการท่องเที่ยววิสาหกิจ
ชุมชนเกษตรสวนนอก 

ซึ่งปัจจุบันได้เกิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชุมชนเกษตรสวนนอก อ. บางคนทีจ.สมุทรสงคราม ประกอบด้วย

1. เกษตรสวนนอก เรียนรู้การทำน้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว เช่น โลชั่น ลิปบาล์ม วิตามินบำรุงผมสบู่สมุนไพร สครับขัดผิวโดยผลิตภัณฑ์ทุกอย่างมีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าวสกัด
2. สวนหนึ่งเพชร สวนมะพร้าวน้ำหอม สวนสมุนไพร
3. บ้านหมอดิน ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องการบำรุงดิน
4. วัดคริสต์

5. ฟาร์มไส้เดือนตาหวานเลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ยมูลไส้เดือน


6. สวนส้มโอ เรียนรู้การปลูก ขยายพันธุ์ดูกิ่ง
7. สวนสนธยา ดูการเลี้ยงชันโรง แมลงตัวเล็กที่มีประโยชน์
8. บ้านดินหอม ปั้นดินให้เป็นดอกไม้สวยงาม
9. น้ำยาเอนกประสงค์ ทำน้ำหมักและน้ำยาต่างๆ
10. ตลาดน้ำสามอำเภอและโบสถ์บางนกแขวก

ทั้งนี้เส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าวช่วยหนุนให้เกิดการเรียนรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไม่หยุดนิ่งดึงรายได้เข้าสู่ชมชนตามแผนพัฒนายกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่นตามพันธกิจหลักของ สสว.อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนการประชาสัมพันธ์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการประชาสัมพันธ์ชุมชน สินค้าและบริการเพื่อการท่องเที่ยวและเป็นทางเลือกใหม่ๆ

สำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบการเดินทางเพื่อสร้างประสบการณ์ดีๆในท้องถิ่นซึ่งกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในชุมชน สร้างรายได้และความเข้มแข็งในท้องถิ่นนับเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศแบบวิถีชุมชนให้มีความยั่งยืน

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ