หลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก วงเดือน พ.ศ.2505

 

0...วันนี้มาชมพระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก วงเดือน ปีพ.ศ.2505 ซึ่งถือว่าเป็นอีกพิมพ์หนึ่งในตระกูล พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือ ที่หาชมองค์จริงและสภาพสวยได้ยาก รองจาก พิมพ์เล็กตัว ท เลยครับขอบคุณคุณสมคิด ปรัตถจริยา(สมิหรา11) นอกจากรับราชการที่กรมที่ดินแล้ว นอกเวลาก็เสาะหาพระเครื่องสายหลวงพ่อทวด โดยเฉพาะพระสวยๆมาเข้ารังส่วนตัว ที่ได้แบ่งปันภาพ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์วงเดือน สภาพสวยดูง่าย 2 องค์ มาให้ชมเพื่อเป็นแนวทางสะสมครับ ค่านิยมสภาพนี้ทั้งสององค์อยู่ที่หมื่นกลางถึงปลายครับ

0...ปี พ.ศ.2502-พ.ศ.2505 วัดช้างให้ได้จัดสร้างพระหลวงพ่อทวดหลายรูปแบบ เช่น เหรียญ พระบูชา พระเนื้อว่านพิมพ์ลอยน้ำ จนกระทั่งปีพ.ศ.2505ได้มีการสร้างพระพิมพ์หลังเตารีดชนิดหล่อตัดช่อแบบโบราณแต่ทำได้จำนวนจำกัด ในขณะที่ความต้องการของชาวบ้านซึ่งศรัทธาต่อหลวงพ่อทวดมีจำนวนมาก ทางวัดช้างให้จึงมีแนวคิดสร้างพระพิมพ์หลังเตารีดเช่นกันแต่เป็นพระปั๊มหลังหนังสือ ซึ่งทำได้ครั้งละจำนวนมาก และต้นทุนถูกว่าพระหล่อตัดช่อแบบโบราณ

0...การสร้างพระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือนั้น มี 2 พิมพ์คือพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก เป็นพระเนื้อทองเหลืองรมดำเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเนื้ออื่นก็มีสร้างแต่พบเห็นน้อยมาก ตามบันทึกของวัดช้างให้ระบุว่า พระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือ ได้จัดสร้างที่ กรุงเทพฯและจัดส่งไปทางรถไฟ เพื่อนำเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดช้างให้โดย พระอาจารย์ทิมเป็นประธานในพิธี  พระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มี 4 พิมพ์หลัก คือ พิมพ์เล็ก มีตัว ท, พิมพ์เล็ก ว จุด, พิมพ์เล็ก วงเดือน และ พิมพ์เล็ก ธรรมดา นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นพิมพ์ย่อยอีกหลายพิมพ์ ตามลักษณะโครงหน้าของ และตัวหนังสือที่แตกต่างกันในแต่ละพิมพ์

 


0...หลวงพ่อทวดหลังหนังสือ พิมพ์เล็ก วงเดือน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ตรงบริเวณบัวทั้ง 2 แถวบนล่าง จะมองเห็นบนผิวของบัวมีลักษณะเส้นโค้งขนานกันหลายๆ เส้น อันเนื่องจากการแกะแม่พิมพ์ จึงเป็นที่มาของพิมพ์ วงเดือน จุดพิจารณาอื่นเช่นเม็ดตาซ้ายจะดูเหมือนติดไม่ชัด ส่วนเม็ดตาฝั่งขวาจะเป็นวงรีชัดเจน  และที่เหนือบ่าขวาขององค์พระจะเห็นลักษณะเหมือนเนื้อเกินและมีเส้นขีดหลายเส้นในแนวเฉียงซึ่งถือเป็นจุดพิจารณาพิมพ์ที่สำคัญอันหนึ่ง

 

0...ด้านหลังขององค์พระจะเห็นเม็ดผดเล็ก กระจายตัวเป็นกลุ่มในช่องว่างระหว่างตัวหนังสือยันต์แถวที่สองและยันต์แถวที่สามบริเวณด้านฝั่งซ้ายมือขององค์พระ และตรงไม้หันอากาศของคำว่า “วัด” จะมีไม่มีหัว  และที่ขอบด้านล่างใต้คำว่า วัดช้างให้จะมีเส้นแตกยาวเป็นลักษณะคดเคี้ยวไปมาเหมือนลูกคลื่นสลับ  นอกจากนี้จุดที่สำคัญอีกอย่างก็คือตัวตัด ครับ ต้องจดจำตัวตัดให้ได้ครับ เพราะของเลียนแบบไม่สามารถทำได้เหมือนครับจากกันด้วยข้อคิด “ พึงชนะใจตนเองด้วยสติ  พึงชนะใจคนด้วยความดี  พึงชนะความลำบากด้วยความอดทน ชีวิตย่อมพบความสุข “

 

เขียน:นายกองตรีอ้วน [email protected]