“บอลลูน โมเดล”

สสส.ดึงหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ผลักนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านขอนแก่น ให้โอกาส ส่งเสริมอาชีพ ลดเหลื่อมล้ำ ชู “บอลลูน โมเดล” ลดจำนวนคนไร้บ้าน ป้องกันไร้บ้านหน้าใหม่ ส่งกลับคืนสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่กลับมาไร้บ้านซ้ำ 

วันที่ 23 สิงหาคม ที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน อ.เมือง จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้บริหารสสส. หน่วยงานในพื้นที่ และตัวแทนคนเคยไร้บ้านที่เปลี่ยนจากคนไร้บ้านสู่เจ้าของธุรกิจ เช่น ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยวในชุมชน แกนนำคนไร้บ้านช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่สาธารณะ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 
  


นพ.วีระพันธ์ สุวรรณไชยมาตย์ รองประธานฯ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพเพื่อผู้ด้อยโอกาส: คนไร้บ้าน และคนพิการในเขตสุขภาพที่ 7 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และขอนแก่น มีการดำเนินงานตั้งแต่ปี  2557 เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นเอกสารและข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อนำมาวางกรอบยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเฉพาะ เน้นการเสริมศักยภาพคนทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านโดยเชื่อมให้เห็นปัญหาที่มีต้นเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม จากนั้นพัฒนาจุดเชื่อมร้อยการทำงาน (node) และหนุนเสริมให้เกิดเครือข่าย (network) ในการขับเคลื่อนงาน รวมไปถึงการพัฒนาระบบข้อมูล คนไร้บ้าน ซึ่งผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ขาดโอกาสไปในทางที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข มีความภาคภูมิใจในตนเองและเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ขอนแก่น เป็น 1 ใน 3 จังหวัด พื้นที่นำร่องการดำเนินงานที่สำคัญของ สสส. และภาคีเครือข่าย โดยสสส.หนุนเสริมศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เกิดการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่จ.ขอนแก่น มีความแตกต่างจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ คือพยายามหนุนเสริมการทำงานกับภาครัฐ จนภาครัฐเห็นความสำคัญนำไปสู่การมีนโยบายสาธารณะร่วมกับขับเคลื่อนทั้งมิติสุขภาพ สิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ ทั้งในเชิงข้อมูล เชิงประชากร และโมเดลการดูแลฟื้นฟูและเสริมศักยภาพคนไร้บ้านทั้งทางด้านสุขภาพ และอาชีพที่ต้องมีความเหมาะสมกับระยะของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน และมีการนำ “บอลลูน โมเดล” มาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน เป็นการทำงานเชิงระบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สสส.ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยงหน่วยงานที่รับผิดชอบ เน้นการป้องกันการเกิดคนไร้บ้าน การพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อลดจำนวนคนไร้บ้าน และส่งกลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี และการหนุนเสริมเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นคนไร้บ้านซ้ำ 

ทั้งนี้ ข้อมูลทางวิชาการที่ สสส.ได้สนับสนุน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า  คนไร้บ้านในประเทศไทยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยโดยรวมค่อนข้างมาก ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านส่วนใหญ่มาจากโรคติดเชื้อ เช่น กลุ่มโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ในปอด ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งและหัวใจ สะท้อนให้เห็นว่าการอาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ และหากอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะเป็นเวลานานจะพบปัญหาสุขภาพจิตที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ คนไร้บ้านยังมีอัตราการสูบบุหรี่และยาเส้นสูงถึงร้อยละ 55 และดื่มสุราเป็นประจำร้อยละ 41 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก สสส.จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนารูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านและผลักดันเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการเข้ารับบริการทางสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนไร้บ้าน


  


นายคณิน เชื้อดวงผุย ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านแบบบูรณาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่การทำฐานข้อมูลคนไร้บ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำงาน ควบคู่ไปกับกิจกรรมเดินกาแฟ ทำให้เราได้รู้จักคนไร้บ้าน มีความคุ้นเคยและได้รับความไว้วางใจ เกิดเป็นเครือข่ายคนไร้บ้าน ซึ่งขอนแก่นมีคนไร้บ้านอยู่ราว 136 คน และมีแกนนำคนไร้บ้านที่มีศักยภาพในการทำงาน จำนวน 10 คน มีการประชุมและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีการขับเคลื่อนในระดับนโยบายสุขภาพ เช่น ประเด็นคนไร้บ้านถูกบรรจุในประเด็นกลุ่ม “เปราะบาง” ของสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น และในปี พ.ศ.2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความสำคัญกับประเด็นคนไร้บ้าน โดยเสนอให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปพิจารณาในเชิงนโยบายเกี่ยวการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้าน มีการเตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพส่งเสริมอาชีพ ทำให้คนไร้บ้านมีงานทำจำนวน 12 ราย เช่น ค้าขาย รับจ้าง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและตรวจสุขภาพเบื้องต้น จำนวน 24 ราย โดยได้รับการตรวจสุขภาพโดยละเอียด และเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐาน จำนวน 39 ราย ได้แก่ การมีบัตรประชาชน มีบัตรคนพิการ และบัตรผู้สูงอายุ ส่งผลให้สามารถได้รับสิทธิ์และโอกาสด้านการมีงานทำ  

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “เดินกาแฟ” โดยการนำเครื่องดื่ม ขนม และยา ไปเยี่ยมเยียนคนไร้บ้านแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนไร้บ้านถึงเป้าหมายและการเปลี่ยนแปลงในชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ที่บริเวณศาลหลักเมืองขอนเเก่น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริการ ตรวจสุขภาพ โดยโรงพยาบาลขอนแก่น สำรวจและลงทะเบียนเพื่อการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิ โดยเทศบาลนครขอนแก่น และจัดบริการอื่นๆ เช่น การตัดผม การสำรวจความต้องการด้านอาชีพ การศึกษา ฯลฯ