เปิดแล้วAPCG2018ไทยเจ้าภาพประชุมพัฒนาเด็กความสามารถพิเศษ



ที่ห้องเพลนารี ฮออล์1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัด “การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 (The 15th Asia-Pacific Conference on Giftedness 2018: APCG2018)”

ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ และเผยแพร่องค์ความรู้พัฒนาเครือข่ายการทำงานระดับนานาชาติ ด้านการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ตลอดจนเพิ่มพูนศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้พัฒนาศักยภาพตนเองอย่างถูกหลักและเต็มความสามารถ โดยมี ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุม APCG2018 ในปีนี้ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 24 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และยังมีกิจกรรมค่ายเยาวชน จัดขึ้นที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมีนักวิชาการด้านการศึกษาจากทั่วโลก และเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดนตรี กีฬา และศิลปะ ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน

ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเปิดงานประชุมฯ ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีนโยบาย “วิทย์สร้างคน” เพื่อเกิดการพัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและสังคม ในปีนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนงบประมาณกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  (ประมาณ 994 ล้านบาท) เพื่อการพัฒนาความสามารถด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) และพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรในเด็กและเยาวชนไทย ผ่านบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ซึ่งได้แจกให้กับโรงเรียนกว่า 1,000 แห่ง อีกทั้งยังหนุนโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ให้มีห้องทดลองทางด้านวิศวกรรมใน 150 สถานศึกษา โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่งทั่วภูมิภาค

สำหรับการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 (The 15th Asia-Pacific Conference on Giftedness 2018: APCG2018)” นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ชั้นแนวหน้าของโลกมาร่วมเป็นวิทยากร ซึ่งการประชุมนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษให้ได้รับการพัฒนาอย่างถูกหลักและเต็มความสามารถ เพื่อให้พวกเขาจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศนวัตกรรมต่อไป และหวังว่าทุกคนจะสนุกและได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากงานประชุม APCG2018 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพครั้งนี้

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งนอกจากที่ทำงานวิจัยและผลักดันงานวิจัยให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว สวทช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยการจัดงานการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 หรือ APCG 2018 ครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนากำลังคนของชาติร่วมกับประเทศอื่นๆ สำหรับการประชุมดังกล่าวมีไฮไลท์กิจกรรมที่สำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ การประชุมวิชาการนานาชาติฯ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม และค่ายเยาวชนนานาชาติ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม และพิธีปิดที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ โดยมีวิทยากรด้านการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ชั้นแนวหน้าของโลกและจากประเทศไทย จำนวน 19 ท่าน จาก 9 ประเทศ ที่มาร่วมประชุมและจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะเยาวชน ผู้มีความสามารถพิเศษ ซึ่งถือเป็นการประชุมผู้ที่ทำงานด้านการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ ดนตรี กีฬา ศิลปะ ที่มารวมตัวกันมากที่สุดงานหนึ่ง มียอดผู้สนใจมีผู้ลงทะเบียนกว่า 500 คน จาก 27 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม

นอกจากนั้นแล้วยังมีการบรรยายจากวิทยากรชั้นนำ อาทิ Prof. Wei-Hsin Sun จาก Institute of Astrophysics, National Taiwan University, Taiwan บรรยายในหัวข้อ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จะสร้างและดึงความสนใจเด็กอัจฉริยะและเด็กที่มีความสามารถในการเรียนรู้สูง Prof. Jin Akiyama จาก Tokyo University of Science นักคณิตศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุน จะมาบรรยายและยกตัวอย่างให้เห็นแนวทางการบ่มเพาะเด็กอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ที่มีไอคิว (IQ) สูง ให้เป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง รวมทั้งร่วมจัดค่ายบูรณาการศาสตร์ทั้งคณิตศาสตร์ ศิลปะ และดนตรี สำหรับเยาวชนเพื่อจุดประกายให้เยาวชนได้สนุกกับคณิตศาสตร์รอบตัวจากสื่อการเรียนการสอน นอกจากนั้นแล้วยังมีวิทยากรด้านการพัฒนาการศึกษาจากประเทศไทย คือ นายมีชัย  วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือ Mechai Bamboo School จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันโรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นต้นแบบที่ได้รับการขยายผลไปถึง 100 โรงเรียน โดยมุ่งหวังสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังยังมีการนำเสนอผลงานผ่านโปสเตอร์จากประเทศต่างๆ จำนวน 107 เรื่องด้วย

ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดค่ายเยาวชน ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จัดขึ้นเพื่อรวมกลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษและมีความสนใจที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนทั้งสิ้น 255 คน จาก 13 ประเทศทั่วโลก ให้เข้าร่วมกิจกรรมในสาขาต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ความสามารถระหว่างกัน ตลอดจนสร้างมิตรภาพและการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดีการประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ  มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ มูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม มูลนิธิพลังแห่งการเรียนรู้ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ คาดหวังว่าการเข้าร่วมการประชุมและค่ายเยาวชนครั้งนี้ ทุกฝ่ายจะได้รับความรู้และประสบการณ์อันน่าจดจำ ตลอดจนหาโอกาสในการพัฒนาเครือข่ายจากการประชุม APCG2018 ครั้งนี้ต่อไป

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ