พระกริ่งไพรีพินาศ พิมพ์บัวแหลม วัดบวรนิเวศวิหาร

0...วันนี้ชมพระกริ่งไพรีพินาศ พิมพ์บัวแหลม วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ พระกริ่งไพรีพินาศ ในปัจจุบันถือว่าเป็นพระกริ่งที่อยู่ในความนิยมของนักสะสม  องค์ที่นำมาให้ชมองค์นี้เป็นเนื้อทองผสมที่แก่ทองคำ ทำให้ปรากฏคราบน้ำทองกระจายเห็นเด่นชัดดูง่ายครับ ค่านิยมปัจจุบันอยู่ที่แสนต้น

0...เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชอยู่ ได้มีผู้นำพระบูชาเนื้อหินเขียว สมัยศรีวิชัยมาถวาย และภายหลังจากที่ได้รับพระบูชาองค์นี้ ผู้ที่คิดประสงค์ร้ายกับพระองค์ท่านต่างก็มีอันเป็นไป และต่อมาภายหลังที่ได้เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานนามพระบูชาองค์นี้ว่า “พระไพรีพินาศ”  พระไพรีพินาศองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่ภายในเก๋งบริเวณของพระเจดีย์ทอง วัดบวรนิเวศฯ เป็นที่กล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์มาโดยตลอด 

0...ในวงการมักระบุว่าพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศสร้างเมื่อปี พ.ศ.2496 มิใช่ พ.ศ.2495 ตามที่บางท่านเข้าใจ เพราะว่าเจตนาของผู้จัดสร้างต้องการสร้างในคราวฉลองชนมายุครบ 80 พรรษาบริบูรณ์ (ในปี พ.ศ.2495) แต่พิธีการสร้างได้ดำเนินการมาถึง พ.ศ.2496 ดังข้อความบางตอนจากหนังสือ “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร” ได้บันทึกเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ได้มีพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา ทางรัฐบาลปละประชาชนได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองงานมหามงคลว่า
 
0...“อนึ่งเมื่องานฉลองพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา บริบูรณ์ ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ผ่านไปแล้ว ได้มีการประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมาเพื่อเป็นฑีฆายุมหามงคล แต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นพระพุทธปฏิมา หน้าพระเพลา 3 คือ หรือ 100 เซนติเมตร สูงตั้งแต่พระที่นั่งถึงพระจุฬา 117 เซนติเมตร พระรัศมี 22 เซนติเมตร ประกอบพิธีเททองหล่อ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2496 และในพิธีเดียวกันได้จัดสร้างวัตถุมงคลพระไพรีพินาศ” ซึ่งในพิธีดังกล่าว ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2496 แรม 5 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเส็ง เวลา 13.52 ณ หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ 


0...ในการนี้ได้เทหล่อพระบูชาไพรีพินาศและพระกริ่งขึ้น 2 พิมพ์ คือแบบพิมพ์บัวแหลม และแบบพิมพ์บัวเหลี่ยม และพระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ และพระชัยวัฒน์สุจิตโต ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างวัตถุมงคลในรูปแบบจำลองพระไพรีพินาศขึ้นเป็นครั้งแรก และพระส่วนใหญ่ที่เทหล่อจะเป็นเนื้อทองผสม ในด้านของค่านิยมของพระกริ่งทั้งสองพิมพ์นั้น พิมพ์บัวเหลี่ยมนั้นเป็นพระที่พิมพ์ใกล้เคียงกับพระบูชาไพรีพินาศองค์จริง จึงมีค่านิยมที่สูงกว่าพิมพ์บัวแหลม 

0...ด้านข้างขององค์พระกริ่งจะปรากฎรอยตะเข็บ ซึ่งเกิดจากการประกบแม่พิมพ์ ฐานด้านหลังกลีบบัวชั้นล่างถูกลบออก มีจารึกตัวอักษรลงไปอ่านว่าไพรีพินาศ ส่วนใหญ่แล้วจะหล่อติดไม่ค่อยชัด เนื่องจากเป็นการหล่อแบบโบราณ ด้านการบรรจุเม็ดกริ่งนั้น เนื่องจากพระกริ่งรุ่นนี้เป็นพระกริ่งที่เทตันแล้วนำมาเจาะอุดเม็ดกริ่งที่ใต้ฐานภายหลัง ขนาดของรูบรรจุกริ่งขนาดแท่งดินสอหรือเล็กกว่าเล็กน้อย จึงปรากฎตำหนิที่ก้นของพระกริ่งไพรีพินาศเป็นรอยตะไบและรอยเสี้ยน อันเกิดจากร่องรอยของการตะไบให้เรียบหลังจากการอุดก้นหลังใส่เม็ดพระกริ่งลงไป  จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุเป็นที่แน่นอน วรรณะองค์พระเหลืองปนขาวเล็กน้อย ไม่กลับดำ ถึงแม้จะผ่านเวลาเนิ่นนานสีสันยังคงเป็นสีเหลืองสดใส และไม่มีการแต่งผิวองค์พระ.
 
จากกันด้วยข้อคิด “ ความอยากมี อยากได้ จนเกินพอดี ย่อมนำมาซึ่งปัญหาและความทุกข์ “

ที่มา : นายกองตรีอ้วน [email protected]

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ