มท. ถอดบทเรียนถ้ำหลวง เพื่อยกระดับแผนและแนวทางจัดการสาธารณภัยของประเทศ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน กรณี การค้นหากู้ภัยและช่วยเหลือผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ณ โรงแรม เอส ดี อเวนิว  กรุงเทพฯ โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เข้าร่วมในการประชุม ซึ่งการประชุมในวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่ได้ร่วมปฏิบัติงานที่จังหวัดเชียงราย และหน่วยงานส่วนกลาง ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรสาธารณกุศล อาสาสมัคร องค์กรระหว่างประเทศ สื่อต่างประเทศรวม 538 หน่วยงานมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนบทเรียนและทบทวนกระบวนการในการจัดการสาธารณภัยเพื่อจัดทำเป็นบทสรุปและกำหนดแนวทางเพื่อจัดการกับสาธารณภัยของประเทศ
   

 นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดเวทีถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review: AAR) ในการให้ความช่วยเหลือผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2561 โดยเป็นการเสวนาและร่วมกันถอดบทเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในการจัดประชุมครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียนการบริหารจัดการสาธารณภัยในภาพรวมระดับประเทศ จึงได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและพัฒนาแนวทางการจัดการสาธารณภัยร่วมกัน ซึ่งได้แบ่งกลุ่มการถอดบทเรียนออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ (2) กลุ่มปฏิบัติการทางอากาศ (3) กลุ่มค้นหาและกู้ภัย (ภาคมูลนิธิองค์กรสาธารณกุศล) (4) กลุ่มค้นหากู้ภัย (ทหารและส่วนราชการ) (5) กลุ่มด้านการแพทย์และสาธารณสุข (6) กลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติ (7) กลุ่มรอง ผอ.รมน.จังหวัด/ศูนย์ ปภ.เขต และ (8) กลุ่ม ปภ.จังหวัด เพื่อหาบทสรุปและแนวทางการพัฒนาของภารกิจในแต่ละด้านและจัดทำเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายแนวทางการจัดการสาธารณภัยของประเทศ


    

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ก่อนอื่นขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่ร่วมกันปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่า ณ บริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ถือเป็นความสำเร็จสำคัญของการกู้ภัยระดับโลก และมาร่วมกันถอดบทเรียนกันในวันนี้เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยของประเทศต่อไป ในปัจจุบันประเทศเรามีโครงสร้างของศูนย์บัญชาเหตุการณ์มีตั้งแต่ระดับชาติ ส่วนกลาง จังหวัด และอำเภอ เพื่อมีระบบการสั่งการเดียวกัน โดยยืดหยุ่นตามสถานการณ์และสภาพปัญหาในพื้นที่ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการสรรพกำลัง รวมทั้งบุคลากรในทุกสหสาขาวิชาชีพ และการระดมเครื่องมืออุปกรณ์กู้ภัยจากทุกภาคส่วน ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องรู้หน้าที่ บทบาท และต้องมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน ครอบคลุมทุกด้าน
    

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญของการถอดบทเรียนครั้งนี้ คือ การจำลองเหตุการณ์ล่วงหน้า (Scenario) เพื่อนำมาวางแผนการปฏิบัติงาน เช่น การเตรียมถังอากาศ การเตรียมเครื่องสูบน้ำให้มีขนาดเพียงพอกับระดับน้ำในถ้ำ ด้วยเหตุนี้ ปภ.จำเป็นต้องมีแผนปฏิบัติงานให้ครบถ้วน พร้อมรับมือกับทุกรูปแบบของสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และจะหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมซักซ้อมการปฏิบัติ และจัดเตรียมอุปกรณ์ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ทุกระดับจะต้องจัดตั้งศูนย์บัญชาการได้ทันท่วงทีและสามารถประสานงานกับหน่วยงานทุกหน่วยงานในพื้นที่ได้ สุดท้ายต้องมีการฝึกจำลองสถานการณ์สาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ตามแผนปฏิบัติการต่างๆ