สสส. พัฒนาสังคมรอบด้าน สร้างพลเมืองตื่นรู้ นักสื่อสารสุขภาวะ ส่งเสริมคนไทยฉลาดใช้สื่อ

สังคมยุคสื่อหลอมรวมซึ่งมีสื่อดิจิทัลเป็นสื่อกระแสหลักนั้น มีลักษณะรวดเร็ว หลากหลาย ซับซ้อน จากการเชื่อมโยงเข้าเป็นเครือข่ายไร้พรมแดน และเกาะเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมในส่วนอื่น ๆ อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติทางการเมืองและเศรษฐกิจในทุกระดับ ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ “สื่อเปลี่ยนวิถีชีวิต” (disruptive technology) ที่ประชาชนขยายบทบาทจากการเป็นแค่ “ผู้รับสื่อ” (receiver) ไปสู่การควบรวมบทบาททั้ง “ผู้ใช้และผู้สร้างสื่อ” (media user generated content) อีกทั้งยังเกิดนวัตกรรมสื่อใหม่ ทำให้สื่อทวีความหลากหลายอย่างยิ่ง ดังนั้นการมุ่ง “เปลี่ยนแปลงระบบสื่อ” ปกป้องและกำกับดูแล ถึงแม้ยังคงมีความสำคัญ แต่ท่ามกลางปรากฏการณ์ดังกล่าว ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ยังมีการรับและใช้สื่ออย่างไม่รู้เท่าทัน จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาวะในทุกมิติ

ดังนั้นการพัฒนา “ผู้ใช้สื่อ” โดยมุ่งที่ การเสริมพลัง (Empowerment) ให้ “คนไทยฉลาดใช้สื่อให้เป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ” โดยมีทักษะด้านการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล ทั้งโดยเป็นผู้รับสาร (receiver) ที่มีวิจารณญาณในการเลือกสรร ตรวจสอบ กลั่นกรองแหล่งที่มา (sender) ช่องทาง (channel) เนื้อหา (content) อย่างรู้เท่าทันโลก เท่าทันตนเอง สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารที่มีจิตสำนึกการเป็นพลเมือง ควบคู่ไปกับการมีทักษะ “ฉลาดรู้ด้านสุขภาพ” (health literacy)


ก็จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการสนับสนุนการพัฒนาคนสู่เป้าหมายของชาติ และเป็นจุดคานงัดในการเสริมสร้างปัจจัยที่จะโน้มนำคนไทยให้มีวิถีชีวิตสุขภาวะท่ามกลางบริบททางสังคมในยุคศตวรรษที่ 21 อันเป็นภารกิจของ สสส.

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเสริมสร้างปัจจัยที่จะโน้มนำคนไทยให้มีวิถีชีวิตสุขภาวะท่ามกลางบริบทของสังคมในยุคศตวรรษที่ 21 แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งการสนับสนุนให้ ‘คนไทยฉลาดใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ’ โดยพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่สนับสนุนให้ประชาชนเป็นผู้ใช้และผู้สร้างสรรค์สื่อ (media users and creators) ที่ฉลาดรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) และตื่นรู้ทางปัญญา พร้อมส่งเสริมศักยภาพ‘ผู้ใช้สื่อ’ สู่การเป็น‘พลเมืองตื่นรู้และนักสื่อสารสุขภาวะ’ ที่มีทักษะ 4 ด้านสำคัญ คือ 1. การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL – Media, Information and Digital Literacy) 2.การสื่อสารและการสร้างความร่วมมือ 3.การเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง 4.การตระหนักรู้เท่าทันและการสะท้อนความคิด

“แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ได้ดำเนินการพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะและผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญามากกว่า 3,600 คน พัฒนากลไกและปัจจัยแวดล้อมที่สร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับ รวมถึงการจัดให้มีทรัพยากรและปัจจัยที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายทั้ง นโยบาย กลไก องค์ความรู้ เครื่องมือวัดผล และช่องทางการสื่อสารในระดับพื้นที่ดำเนินการ แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญาได้สนับสนุนส่งเสริมกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่สุขภาวะทางปัญญา และกระบวนการพัฒนาจิต ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการไปแล้วกว่า 45 จังหวัด และมีเป้าหมายในการดำเนินงานพื้นที่ให้ครอบคลุม 77 จังหวัดภายในปี 2563” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 

เข็มพร วิรุณณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า “เมื่อวิเคราะห์ในระบบการใช้สื่อของเด็ก พบว่านอกจากสื่อที่เป็นโซเชียลมีเดีย ยังมีสื่อรอบตัว เช่น ครอบครัว คุณครู คนในชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อศิลปะชุมชน สื่อทางเลือก สื่อพื้นบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ หล่อหลอมเด็กให้เติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีในสังคม ดังนั้นสื่อที่ สสส. จัดทำจึงเกิดจากปัจจัยและบริบทที่แวดล้อมตัวเด็ก โดยมียุทธศาสตร์และวิธีดำเนินงาน ผ่านกลไก 3 E คือ (Empower) พัฒนาศักยภาพของนักสื่อสารสุขภาวะ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา (Engagement) พัฒนากลไกและปัจจัยแวดล้อมที่สร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับ และ (Enable) จัดให้มีทรัพยากรและช่องทางสื่อสารแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ผลงานที่ผ่านมาได้จัดโครงการด้านสื่อสร้างสรรค์เพื่อกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว อาทิ โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โครงการปลุกใจเมือง (Spark U)  โครงการพื้นที่นี้ดีจัง โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์ขับเคลื่อนงาน 3 ดี  โครงการพลังพลเมืองเพื่อวิถีสุขภาวะ โครงการกระบวนการสื่อสร้างสรรค์เพื่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อาทิ โครงการเสริมสร้างพลเมืองสูงวัยสร้างสรรค์สื่อสร้างสุข โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนกลุ่มเสี่ยงด้วยศิลปะสร้างสุข โครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะ อาทิ โครงการสร้างพลังพลเมืองตื่นรู้ด้วยการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โครงการพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะเพื่อสร้างสรรค์สื่อออนไลน์และสื่อเสียงสำหรับเด็กและครอบครัว โครงการสร้างพลังพลเมืองตื่นรู้ พลังคิด พลังคิดส์ และโครงการตามวาระพิเศษต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกลุ่มแผนงาน”

 

ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมโครงการธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า “สุขภาวะทางปัญญาเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพื้นฐานของทุกคน อยู่ในทัศนคติที่เอื้อต่อจิตใจ การเข้าใจในความดี การให้ และการแบ่งปัน จนเกิดความสุขจากภายใน เป็นความสุขที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งของ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือแข็งแรงก็สามารถมีสุขภาวะทางปัญญาที่ดีได้ ยกตัวอย่างกลุ่มคนที่มีสุขภาวะทางปัญญา เช่น น้อง ๆ ทีมหมูป่าและโค้ช การที่เขาอยู่ในนั้นได้ก็เพราะเขามีสุขภาวะทางปัญญาในระดับหนึ่ง การที่โค้ชเคยฝึกตนเองมาก่อน เขานำให้เด็ก ๆ กลับมามีทักษะพื้นฐานอันหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญมาก ก็คือความสามารถในการเท่าทันตนเอง ผ่านการภาวนา จิตใจสงบ ทำให้อยู่ในสภาวะเงื่อนไขที่กดดันได้ ภารกิจหลักที่ สสส. ขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ การเปิดช่องทางและโอกาสให้คนในสังคมเข้าถึงประสบการณ์ตรงในการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น โครงการธนาคารจิตอาสา ที่สนับสนุนให้ทุกคนใช้กระบวนการทำงานจิตอาสามาเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาให้ตนเอง ผ่านการทำความดีเพื่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น คนพิการ เด็ก  คนชรา สัตว์เลี้ยง ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน โครงการฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา โครงการผู้นำแห่งอนาคต โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย ทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริมทักษะการสะท้อนคิด สร้างการตื่นรู้ เท่าทันทั้งตนเอง สังคมและโลก จนนำสู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้”