มท. เผยลงพื้นที่ไทยนิยม ยั่งยืนครบ 4 ครั้ง เพิ่มรายได้ ปชช.

วันนี้ (17 ก.ค. 2561) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ได้รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้ 
     ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล ได้ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความต้องการครบทั้ง 4 ครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้วครบทุกหมู่บ้าน/ชุมชน รวม 82,271 แห่ง มีประชาชนเข้าร่วม 8.08 ล้านคน ซึ่งได้สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตามกรอบหลัก 10 เรื่อง และมีประเด็นสำคัญเพิ่มเติม เช่น การจัดเก็บข้อมูลปัญหายาเสพติดของหมู่บ้าน/ชุมชนของสำนักงาน ป.ป.ส. การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มาตรการส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพดีและมาตรการช่วยเหลือชาวนา เป็นต้น รวมทั้งการจ้างนักศึกษาช่วยปฏิบัติงานสนับสนุนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จำนวน 6,525 อัตรา
     ความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนงาน/โครงการ มีดังนี้
     1) โครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน ขณะนี้ทีมดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (AO) ได้สัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการไปแล้วจำนวน 8.24 ล้านคน มีผู้ประสงค์พัฒนาตนเอง 4.05 ล้าน สำหรับผลการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 ขณะนี้ มีผู้มาลงทะเบียนและอยู่ระหว่างการประชาคม 1,001,541 คน ประกอบด้วย ผู้พิการ 74,387 คน ผู้ป่วยติดเตียง 19,417 คน ผู้สูงอายุ 222,322 คน และผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนในปี 2560 จำนวน 685,415คน
     2) แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร วงเงิน 24,301 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดเมนูทางเลือก จำนวน 20 โครงการ ใน 4 ด้าน คือ ด้านบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การสร้างฝายชะลอน้ำ จัดหาแหล่งน้ำชุมชน และแหล่งน้ำชลประทาน 287 แห่ง ด้านการแก้ไขปัญหาที่ดิน ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร 12,966 ราย และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม 2,534 ไร่ ด้านการปศุสัตว์ ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์และส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์ และการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร รวม 470,301 ราย และด้านผลผลิตทางการเกษตร เช่น การพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน และการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่กว่า 4,000 ราย เป็นต้น 
     3) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท) โดย กรมการปกครอง มีหมู่บ้าน/ชุมชนเสนอโครงการทั้งสิ้น 8.1 หมื่นหมู่บ้าน/ชุมชน 91,373 โครงการ ซึ่งคณะกรรมการบริหารงานอำเภอและคณะกรรมการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติโครงการ และผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นชอบแผนครบทุกโครงการแล้ว โดยสำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้วร้อยละ 98.10 ขณะนี้หมู่บ้าน/ชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินโครงการซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งแผนงาน/โครงการที่เสนอขอรับงบประมาณ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
     1. โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยตรง จำนวน 12,271 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 17.06 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ลานตากผลผลิตทางการเกษตร 3,622 โครงการ การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว 649 โครงการ และโรงสี 583 โครงการ


     2. โครงการประเภทสร้างอาชีพสร้างรายได้โดยอ้อม จำนวน 9,999 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 13.90 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนเพื่อการเกษตร 2,541 โครงการ ขุดลอกสระ ห้วย หนอง คลอง บึง 2,164 โครงการ และลานอเนกประสงค์/สาธารณประโยชน์ 2,045 โครงการ
     3. โครงการประเภทส่งเสริมคุณภาพชีวิต จำนวน 49,653 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 69.04 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนสัญจรภายในหมู่บ้าน 14,362 โครงการ ศาลากลางบ้าน/ศาลาประชาคม/อาคารอเนกประสงค์ 8,690 โครงการ และปรับปรุงซ่อมแซมประปาหมู่บ้าน 6,103 โครงการ
     สำหรับข้อมูลปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชนจากการทำประชาคมอีกจำนวน 727,043 รายการ จะได้แจ้งอำเภอวิเคราะห์รายละเอียดปัญหาความต้องการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรียงลำดับความสำคัญ และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำสู่การพิจารณาบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาอำเภอ และแผนพัฒนาจังหวัดต่อไป
     4) โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี วงเงิน 9.3 พันล้านบาท โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการใน 3,273 หมู่บ้าน/ชุมชน ครอบคลุม 76 จังหวัด ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ประสานงาน OTOP นวัตวิถี ระดับกรมและระดับภูมิภาค รวม 12 ศูนย์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าทุกสัปดาห์
     5) โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดย สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ มีแผนการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับกองทุนหมู่บ้าน พร้อมทั้งดำเนินการแจ้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเสนอโครงการในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2561 และจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการให้กับกองทุนโดยโอนจัดสรรเข้าบัญชีประชารัฐของกองทุน และมีมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมติดตามสนับสนุนโครงการในทุกขั้นตอน
     โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความต้องการของประชาชน และนำมาสู่การกำหนดแผนงาน/โครงการ และดำเนินการตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน