GSTC ผนึกอพท.เติมความรู้เทียบชั้นมาตรฐานโลก

สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC จับมือ อพท.  อบรมบุคลากรภายใน 2 หลักสูตร เทียบมาตรฐานโลก ย้ำจุดยืนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคน หรือ Empower คน เพื่อนำความรู้ไปขยายผล   ล่าสุดปลื้ม  GSTC ให้การรับรองเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย  

พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) จัดอบรมให้แก่บุคลากรระดับปฏิบัติการและระดับผู้บริหารจำนวน 30 คน รวม 2 หลักสูตรประกอบด้วย หลักสูตรการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Training Program (STTP) และหลักสูตรพัฒนาผู้ฝึกอบรมรม (วิทยากร) ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Training of the Trainers (ToT) ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ GSTC จัดอบรมให้กับหน่วยงานระดับองค์กร เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดอบรมของ GSTC ที่เดินทางไปทั่วโลก เป็นการจัดอบรมแบบเปิดให้ผู้สนใจสมัครผ่านการลงทะเบียนเท่านั้น

วัตถุประสงค์ของการจัดอบรมเพื่อยกระดับความรู้ให้กับบุคลลากรภายในองค์กร ให้เข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามาตรฐานระดับโลก  จะได้นำความรู้ที่ได้รับออกไปเผยแพร่ให้กับภาคีเครือข่ายต่อไป  โดยหลักสูตร STTP ผู้อบรมจะได้รู้เกี่ยวกับเกณฑ์พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) รู้เรื่องการเชื่อมโยงการพัฒนาการท่องเที่ยวด้านต่างๆ  เพื่อความยั่งยืน ซึ่งนำไปปรับใช้กำหนดเป้าหมาย รู้เรื่องนโยบายการจัดทำแผนงานโครงการ และพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ส่วนหลักสูตร ToT เป็นการอบรมเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญในระดับวิทยากร จะได้นำเกณฑ์พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกหรือ GSTC ไปฝึกอบรมให้กับหน่วยงานต่างๆ  

“การพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาคน ให้ความรู้คนหรือบุคลากร หรือเรียกว่า Empower คน คือการสร้างพลังให้กับคน ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะเห็นภาพของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งที่ผ่านมา อพท. พัฒนาให้ความรู้แก่ชุมชนและภาคีเครือข่าย แต่ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาให้ความรู้แก่บุคลากรในองค์กร เพราะคนกลุ่มวนี้จะนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด ให้กับอีกหลายๆ คน” 

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่าสิ่งที่บุคลากรของ อพท. จะได้รับจากการอบรมคือ ทักษะความรู้ในระดับสากล และเมื่อเทรนดร์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกมาถึง คนกลุ่มนี้จะสามารถเดินหน้าการทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไปได้ ขณะที่ชุมชน ชาวบ้าน และภาคีเครือข่ายของ อพท. ก็จะได้รับการถ่ายทอดมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นภูมิคุ้มกันที่จะรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต ซึ่งนอกจากการนำความรู้ไปพัฒนาให้กับชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่พิเศษ อพท. ยังมีเป้าหมายขยายการถ่ายทอดความรู้ กระจายออกไปให้กับชุมชนใน 8 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 37 จังหวัด




ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้ง อพท. และ GSTC เราทำงานร่วมกันมาอย่างใกล้ชิด  ล่าสุด GSTC ยังให้การรับรองเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ  CBT Thailand ในระดับ Fully Recognized โดยระบุว่าเป็นเกณฑ์ที่สอดคล้องกับเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เกณฑ์ดังกล่าว อพท. ได้จากการถอดบทเรียนกับหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วน จนได้เป็นแนวทางที่ชัดเจนจนได้รับการยอมรับระดับโลก