มท. 1 เผยคืบหน้าโครงการไทยนิยม ยันทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส

วันนี้ (19 มิ.ย. 2561) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ได้รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้ 
         

ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความต้องการของพี่น้องประชาชนและสร้างการรับรู้ตามกรอบหลัก 10 เรื่องไปแล้ว 3 ครั้ง ครบทุกหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 8.2 หมื่นแห่ง มีประชาชนเข้าร่วม 8.78 ล้านคน ขณะนี้ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ครั้งที่ 4 ซึ่งได้ลงพื้นที่แล้ว 4.1 หมื่นแห่ง มีประชาชนเข้าร่วมเวทีประชาคม จำนวน 3.9 ล้านคน และจะเสร็จสิ้นการลงพื้นที่ทำประชาคมในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ การจัดทำแผนงาน/โครงการ ได้เชิญภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ข้อมูล และติดตามโครงการต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส รวมทั้งจ้างนักศึกษาช่วยปฏิบัติงานสนับสนุนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งทุกอำเภอได้จ้างนักศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 5.7 พันอัตรา เพื่อสร้างรายได้ให้แก่นักศึกษาและส่งเสริมประสบการณ์ทำงานร่วมกับภาคราชการ


สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 วงเงิน 100,358.1 ล้านบาท มีดังนี้ 1) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท โครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน ขณะนี้ทีมดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (AO) ได้สัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการไปแล้วจำนวน 8.2 ล้านคน จากเป้าหมาย 8.6 ล้านคน มีผู้ประสงค์พัฒนาตนเอง 4.1 ล้านคน 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มเกษตรกร 2.99 ล้านคน กลุ่มทำงานมีนายจ้าง 1.31 แสนคน และกลุ่มทำงานอิสระ 9.71 แสนคน และผู้ไม่ประสงค์ที่จะพัฒนา 3.1 ล้านคน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มนักศึกษาที่เข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียน และกลุ่มวัยทำงาน และอยู่ระหว่างการประมวลผลข้อมูลอีก 1 ล้านคน และจะประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อดำเนินการพัฒนาเป็นรายบุคคลให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2561

นอกจากนี้ ยังเปิดให้กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 ลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 2) แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดเมนูทางเลือก จำนวน 20 โครงการ ใน 4 ด้าน คือ โครงการด้านบริหารจัดการน้ำ โครงการด้านการแก้ไขปัญหาที่ดิน โครงการด้านการปศุสัตว์ และโครงการด้านผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งได้ส่งมอบให้กับหน่วยงานในพื้นที่รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตามลักษณะต่าง ๆ ทั้งรายกลุ่มหรือสหกรณ์และรายบุคคล ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ 3) แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

 

: โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท) โดย กรมการปกครอง มีหมู่บ้าน/ชุมชนเสนอโครงการทั้งสิ้น 8.1 หมื่นหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 90,292  โครงการ อยู่ระหว่างเสนอโครงการ 1,119 หมู่บ้าน/ชุมชน และไม่ขอรับงบประมาณ 327 หมู่บ้าน/ชุมชน ในขณะนี้ อยู่ระหว่าง กบอ.อนุมัติโครงการ ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติเห็นชอบแผน และเสนอสำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบต่อไป โดยจะโอนเงินลงหมู่บ้าน/ชุมชน ภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ซึ่งหมู่บ้าน/ชุมชนต้องดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561
       

 สำหรับแผนงาน/โครงการที่เสนอขอรับงบประมาณ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
       

 1. โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยตรง 3 ลำดับแรก ได้แก่ ลานตากผลผลิตทางการเกษตร 2,735 โครงการ การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว 454 โครงการ และโรงสี 412 โครงการ

       

 2. โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยอ้อม 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนเพื่อการเกษตร 1,710 โครงการ ขุดลอกสระ ห้วย หนอง คลอง บึง 1,472 โครงการ และลานอเนกประสงค์/สาธารณประโยชน์ 1,342 โครงการ
       

  3. โครงการประเภทส่งเสริมคุณภาพชีวิต 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนสัญจรภายในหมู่บ้าน 8,758 โครงการ  ศาลากลางบ้าน/ศาลาประชาคม/อาคารอเนกประสงค์ 5,132 โครงการ และปรับปรุงซ่อมแซมประปาหมู่บ้าน 3,779 โครงการ ซึ่งทุกโครงการมาจากความต้องการของประชาชนจากการทำประชาคมอย่างแท้จริง
         

โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี วงเงิน 9.3 พันล้านบาท โดย กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการใน 3,273 หมู่บ้าน/ชุมชน ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด ตามกรอบกระบวนงาน 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่น และการส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
       

 โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติสนับสนุนเงินทุนการประกอบอาชีพผ่านกองทุนหมู่บ้าน 65,670 กองทุน กองทุนละไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งได้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติว่าด้วยการบริหารโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ แล้ว และจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน 2561


โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้ความสำคัญและได้กำกับติดตามการดำเนินงานของทีมขับเคลื่อนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเน้นย้ำการดำเนินงานทุกขั้นตอนต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทุกโครงการต้องมาจากความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา เพื่อให้การดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เกิดมรรคผลต่อการพัฒนาประเทศ ในทุกพื้นที่อย่างยั่งยืน