สสว.-สวทช. จัดเวทีพบปะนักลงทุนและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จัดงาน “Technology Investment Conference 2018”  เพื่อเป็นเวทีให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี จากวิทยากรระดับสากล และเปิดโอกาสหาพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ กับนักลงทุน สถาบันการเงิน และพันธมิตรผู้สนใจที่เข้าร่วมงานกว่า 200 คน พร้อมสร้างโอกาสพบปะเจรจาธุรกิจ ขยายตลาด ได้โอกาสสนับสนุนทางการเงินและคู่ค้าธุรกิจ เพื่อนำนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. และนายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. ร่วมเปิดงาน

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จัดงาน “Technology Investment Conference 2018” เพื่อเป็นเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนจากวิทยากรระดับสากล รวมถึงเปิดโอกาสการหาพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุน สถาบันการเงิน และพันธมิตรผู้สนใจที่เข้าร่วมงาน โดยงานนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยได้พบกับหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ Frost & Sullivan (APAC) ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ในด้านเครื่องมือทางการเงินและการลงทุนที่ทันสมัย รวมถึงได้รับความรู้ความเข้าใจในหัวข้อต่างๆ อาทิ การระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ มุมมองของเทคโนโลยีสำหรับอาเซียนและการประเมินเทคโนโลยี การอัพเดทเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการดำเนินธุรกิจระดับสากล การคิดไอเดียใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและการทำงานร่วมกับ Startup และการสาธิตเทคโนโลยี Blockchain ที่จะเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจในอนาคต



“เราทุกคนตระหนักดีว่านวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในช่วงพัฒนานวัตกรรมถือมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้เป็นประเทศไทย 4.0 การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้สามารถแข่งขันได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) เพราะในการดำเนินธุรกิจจริงในภาคออนไลน์ ความสามารถในการขยายตลาด การขาย การติดต่อกับลูกค้าได้อย่างทันท่วงที การสนับสนุนการชำระเงินของลูกค้า เป็นต้น ล้วนต้องสามารถทำได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงและทุกวัน ทั้งนี้ กลุ่มเทคสตาร์ทอัพถือเป็นผู้ประกอบการ SME แบบใหม่ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยผ่านเทคโนโลยีที่กลุ่มนี้พัฒนาขึ้นมา รวมถึงเทคโนโลยี Blockchain ที่เป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลก เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจจริงในการเติบโตและขยายฐานลูกค้าผ่านการเข้าถึงที่สะดวกรวดเร็วในทันที ซึ่ง สสว. จะมีส่วนในการผลักดันธุรกิจเทคโนโลยีนี้ให้สำเร็จ รวมถึงความร่วมมือกับซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. ในการจัดงาน Technology Investment Conference 2018 เพื่อสนับสนุนการผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่งขึ้น ทั้งด้านการผลิตและบริการ ด้วยทรัพยากรที่จำกัดของผู้ประกอบการ โดยอาศัยการลงทุนจากนักลงทุน VC และความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป” ผู้อำนวยการ สสว. กล่าว

ด้าน นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการจัดงาน Technology Investment Conference 2018 ร่วมกับ สสว. ภายใต้หัวข้อ “Investments that Sparks Science and Technology Innovation” เป็นงานประชุมเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและความเข้าใจของการนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึง Platform สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายระดับโลกเข้าด้วยกัน หัวข้อในวันนี้เน้นเรื่อง ICO และ Blockchain ที่กำลังมาแรงและจะมีผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมาก ซึ่งสามารถทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทั่วโลกได้โดยง่าย ในขณะที่ทางรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นปัญหาด้านการประเมินมูลค่าของเทคโนโลยี จึงได้พัฒนาเครื่องมือซึ่งจะช่วยให้การหาทุนมาต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์หรือสังคมนั้น เกิดขึ้นได้มากและมีประสิทธิภาพขึ้น

Technology Investment Conference 2018 นี้ได้มีการพัฒนาจากการสร้างเวที Pitching ของ Startup ที่เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วถือเป็นเรื่องใหม่ มาเป็นการสร้างเวทีให้เกิดความคิดด้านการสร้างเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และเป็นเวทีผลักดันผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพออกสู่เชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการนำผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง โดยสวทช.ร่วมมือกับสสว.

ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาทางสวทช. ร่วมกับ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 180 ล้านบาท ริเริ่มโครงการ Research Gap Fund เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการทำ Industry scale prototyping และศึกษาตลาด ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าที่เกิดจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐกว่า 100 ผลงาน ภายใน 6 เดือนสามารถสร้างรายได้และการลงทุนในเทคโนโลยีกว่า 320 ล้านบาท โครงการ Research  Gap Fund ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีและงานวิจัยไทยที่หากผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อปิดช่องว่างระหว่างการพัฒนาผลงานในห้อง lab ไปสู่การสร้างนวัตกรรมต้นแบบอุตสาหกรรม และทดสอบกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ผมมีความมั่นใจในคุณภาพและโอกาสของผลงานวิจัยของไทยไปสู่ตลาดโลก  

จากการสร้าง Ecosystem อย่างจริงจังของรัฐบาลใน 3 ปีที่ผ่านมา ริเริ่มโครงการ และกลไกการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งโครงการ Research Gap Fund และการจัดงาน Technology Investment Conference  มา 6 ปี ทำให้ผมมีความมั่นใจในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 และมั่นใจว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นประเทศแนวหน้าในการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

งาน Technology Investment Conference 2018 จะประกอบด้วยการบรรยายเรื่องการรับประกันเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี / ICO (Initial coin offering) หรือการระดมทุนผ่านเหรียญดิจิทัล ในบริบทประเทศไทย / หัวข้อเสวนาการเลือกกลไกการระดมทุนที่ทันสมัย ตลอดจนรับชมนิทรรศการผลงานเทคโนโลยีของผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ จากนั้นช่วงบ่าย จะมีการแบ่งหัวข้อเทคโนโลยีตามความสนใจของผู้ร่วมงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 : เทคโนโลยีในอนาคตสำหรับอาเซียน ประกอบด้วย เทคโนโลยี Foresight หรือเครื่องมือคาดการณ์อนาคต สำหรับประเทศไทย / 1001 ไอเดียสำหรับการเริ่มต้น / นวัตกรรมการเริ่มต้นสร้างองค์กรและรายงานทิศทางการทำงานร่วมกันในปี 2018 / การลงทุนในธุรกิจ Blockchain ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และการสาธิตการเริ่มต้นใช้งานเทคโนโลยี ขณะที่ ส่วนที่ 2 : นวัตกรรมวิจัยหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ Leaders in Innovation Fellowships (LIF) Programme ประจำปี 2561 ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมของทุน Newton Fund เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยสามารถนำผลงานวิจัยของตนมาจัดทำแผนธุรกิจเพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยเกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่านรูปแบบการนำเสนอผลงานแบบพิชชิ่ง รวมถึงยังมีหัวข้อแบ่งปันประสบการณ์การผลักดันนวัตกรรมงานวิจัยสู่ตลาด โดยผู้รับทุนในโครงการ LIF ปีก่อนๆ

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ