ก.แรงงานแจงรัฐคุ้มครองแรงงานประมงยึดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียม

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงานเปิดเผยถึงกรณี ที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานประมงและการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลการวิจัยของเครือข่ายประมงพื้นบ้านร่วมกับองค์การภาคประชาสังคมด้านแรงงาน สาระสำคัญระบุว่า 1) ขอให้ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบชั่วโมงการทำงานให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น 2) แรงงานส่วนใหญ่ถูกนายจ้างยึดเอกสารสำคัญไว้ 3) ขอให้รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมกันออกกฎหมายห้ามเรียกเก็บค่านายหน้าจากแรงงานข้ามชาติ ปรับปรุงให้มีช่องทางการสื่อสารร้องเรียนกับแรงงาน จัดตั้งศูนย์สวัสดิการฯ 4) ปัจจุบันยังมีการทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อทะเลไทย 5) ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการทรัพยากรทะเล รวมทั้งยังระบุว่าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ยังทำไม่ได้จริง

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน

ในกิจการประมง ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมุ่งเน้นการตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิหน้าที่ และการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแก่ลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ดำเนินการ ดังนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้พยายามปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ให้แรงงานภาคประมงได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ ได้แก่ การตรวจแรงงาน หากพนักงานตรวจแรงงานพบว่ามีกำหนดเวลาพักไม่ถูกต้อง และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในทันที ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ ๑๑ มี.ค. ๒๕๖๑ เป็นต้นมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งทีมตรวจจับพิเศษทางทะเลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น 

สำหรับการติดตามผลการดำเนินการ ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) ใน 22 จังหวัดติดชายทะเลให้ตรวจสอบเรือประมงทุกลำ    ที่แจ้งเข้า - ออก พร้อมรายงานผลการตรวจแรงงานเป็นประจำทุกวัน โดยระหว่าง 1- 18 พ.ค. 2561 พบการกระทำความผิดทั้งหมด 70 ลำ โดยเป็นกรณีกระทำผิดในเรื่องเวลาพัก จำนวน 20 ลำ ซึ่งได้ออกคำสั่งให้นายจ้างดำเนินการแก้ไขให้ปฏิบัติถูกต้องตามระยะเวลาที่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะส่งเรื่องดำเนินคดีต่อไป ส่วนปัญหาสำคัญที่พบ คือ การสื่อสารด้านภาษากับแรงงานต่างด้าว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดจ้างผู้ประสานงานด้านภาษาประจำศูนย์ (PIPO) ทุกศูนย์ จำนวน 30 ศูนย์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้

โดยได้เผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน รวมถึงกรมการจัดหางานได้เปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ อาทิ โทรศัพท์สายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694 และเปิดระบบรับแจ้งปัญหาแรงงานต่างด้าว/แรงงานไทย ชื่อ  DOE Help Me ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/helpme โดยแรงงานสามารถเลือกภาษาได้ 6 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษากัมพูชา ภาษาลาว ภาษาเมียนมา และภาษาเวียดนาม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติ ในภาคประมง มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ในภาษาของแรงงานต่างด้าว

พร้อมกันนี้ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในภาคประมงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ส่วนกรณีการเรียกเก็บค่านายหน้าและการยึดใบอนุญาตทำงานจากแรงงานต่างด้าวนั้น ปัจจุบันกฎหมายก็ได้กำหนดไว้แล้วว่า ห้ามเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่าย จากคนต่างด้าวทุกกรณีในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย และการยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของแรงงานต่างด้าวไว้นั้นถือเป็นความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามจากการตรวจที่ผ่านมายังไม่พบการกระทำผิดในเรื่องดังกล่าว

“ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะยังคงดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าวและสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน”นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายสุด