กระทรวงพลังงาน เผยผู้ประกอบการเข้ายื่นหลักฐานคุณสมบัติ แปลง G1/61 และ G2/61

วันนี้ (16 พฤษภาคม 2561) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลง ความคืบหน้าการเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) 

ภายหลังจากที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 เข้ายื่นแสดงความจำนงเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และกำหนดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูล เข้ายื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561 โดยในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561 มีผู้ประกอบการ ได้เข้ายื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น ณ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ดังนี้

- แปลง G1/61 จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd., บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited, บริษัท MP G2 (Thailand) Limited, บริษัท Total E&P Thailand, บริษัท OMV Aktiengesellschaft

- แปลง G2/61 จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd., บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited, บริษัท MP L21 (Thailand) Limited, บริษัท OMV Aktiengesellschaft

สำหรับขั้นตอนต่อไป กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน ในการพิจารณาและจะประกาศผลผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 


ทั้งนี้ ผู้ที่จะผ่านขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จะต้องมีกิจการที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity) อย่างน้อย 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2559 - 2560 สำหรับผู้ที่จะมีสิทธิร่วมประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) จะต้องมีกิจการ ที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity) อย่างน้อย 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2559 - 2560 และยังจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินงานการผลิตปิโตรเลียมในทะเล (Offshore Gas Field Operate) อย่างน้อย 1 แหล่ง ที่มีอัตราการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ระหว่างปี 2559 - 2560




โดยการพิจารณาดังกล่าว เพื่อให้ได้ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถ เข้ามารับสิทธิเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนา และผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง ให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพร่วมกับภาครัฐ 


ทั้งนี้ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) หรือระบบ PSC ที่นำมาใช้ในการเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 (แหล่งเอราวัณและบงกช) ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนการปฏิรูปด้านพลังงานของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้สามารถใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตและสัญญาจ้างบริการแทนที่จะมีระบบสัมปทานเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)