อัศวิน เตรียมยื่นอุทธรณ์ ปมศาลปกครองกลาง สั่งชดใช้ค่าเสียหาย "ป้าทุบรถ"

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลัง ศาลปกครองกลางพิพากษาคดี นางสาวบุญศรี แสงหยกตระการ หรือ ป้าทุบรถ เจ้าของบ้านภายในหมู่บ้านเสรีวิลล่า สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร พร้อมพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้อำนวยการเขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศและกรุงเทพมหานคร กรณีปล่อยให้เกิดการสร้างตลาด 5 แห่งรอบบ้านพักโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยพิพากษาให้  กทม. กับพวกรื้อถอนตลาด 5 แห่ง ภายใน 60 วัน นับจากวันพิพากษาสิ้นสุด พร้อมให้เยียวยาผู้ฟ้องร้อง 4 ราย รายละ 368,400 บาท ว่า เรื่องนี้   กทม. ต้องรื้อถอนตลาดทั้ง 5 แห่ง ภายใน 60 วันที่กำหนด ส่วนการชดใช้ค่าเสียหาย ตนจะขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เนื่องจากไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นจากตน
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดคำพิพากษา แต่ปัจจุบัน กทม.สั่งปิดตลาดรอบบ้าน นางสาวบุญศรี ผู้ฟ้อง ทั้งหมดแล้ว โดยได้รื้อถอนบางส่วนของตลาดที่ไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมายออกแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดร่มเหลืองที่ไม่มีใบอนุญาต และตลาดรุ่งนรา ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดสวนหลวง ยังไม่มีการรื้อถอนโครงสร้างออก เนื่องจาก เจ้าของตลาดได้ยื่นขออนุญาตตามกฎหมาย และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาล ว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถก่อสร้างอาคารได้หรือไม่ ที่ผ่านมา กทม. จึงไม่ได้รื้อถอนในส่วนนี้ เพราะหากรื้อถอนอาจถูกฟ้องร้องได้
 
“ผมเห็นด้วยเรื่องให้รื้อถอนตลาด แต่เรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย โดยผู้ว่าฯ กทม. หรือผม จะต้องชดใช้นั้น จะหารือกับฝ่ายกฎหมายในการขออุทธรณ์ ซึ่งกำหนดภายใน 30 วัน เพราะการจะให้ผมชดใช้ค่าเสียหายให้ ผมมองว่า ผมไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย อยู่ดีๆ จะมาให้ผมจ่ายเยียวยาอย่างไร ขอยืนยันว่า เมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ผมอยากจะทำตามคำสั่งศาลทันที”

 
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า วันนี้ตนไม่ได้เดินทางไปร่วมรับฟังคำพิพากษา เนื่องจากติดภารกิจ ส่วนการดำเนินการกับตลาดในพื้นที่ กทม. ปัจจุบันสำนักงานเขตทยอยรายงานการดำเนินการมายังตน โดยตลาดที่ผิดกฎหมายจะต้องสั่งปิดเพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้องตามข้อบังคับตลาด โดยภายในปี 2561 ตลาดในพื้นที่ กทม.จะต้องถูกต้อง
 
“ขณะนี้ นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร  ในฐานะประธานพิจารณา ได้รายงานเบื้องต้นว่า ได้พิจารณาความผิดทางวินัยเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยความผิดที่พบ คือ ความผิดวินัยไม่ร้ายแรง อาทิ การตัดเงินเดือน เป็นต้น เบื้องต้นมีข้าราชการเกี่ยวข้อง 7 ราย อาทิ อดีตผู้อำนวยการเขตประเวศ และคนปัจจุบัน หัวหน้าฝ่ายโยธาเขต หัวหน้าฝ่ายอนามัย หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เป็นต้น ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องระบุไว้ว่า การเอาผิดวินัยกับผู้อำนวยการเขตที่พ้นราชการไปเกิน 1 ปี ไม่สามารถเอาผิดได้ต้องปล่อยไป ยกเว้นคนปัจจุบัน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องถึงการดำเนินการต่างๆ อีกครั้ง” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว