หนุมานงาแกะ หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี


0...ขุนกระบี่วานร ฤทธิเกริกไกร หนึ่งในสยาม คือสมญานามที่คนในวงการเครื่องรางของขลังตั้งให้กับ หนุมาน หลวงพ่อสุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเบญจภาคีของขลังในปัจจุบัน วันนี้มาชม หนุมานงาแกะพิมพ์วันทาเสมา หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน ที่สวยงามทั้งรูปแบบและศิลปะมีรายละเอียดชุดทรงเครื่องเต็มหน้าหลัง ความเก่าของงาปรากฎชัดและมีรอยแตกลานเป็นธรรมชาติทั้งองค์ ที่สำคัญหายากมาก เพราะการแกะงาแบบลงรายละเอียดทรงเครื่องค่อนข้างหาช่างแกะได้น้อย ขอขอบคุณ ดร.อธิโชค วินทกร เจ้าของพระครับ 
 
0...ในวงการเครื่องรางของขลัง มีคำกล่าวว่า เสือหลวงพ่อปานหนุมานหลวงพ่อสุ่น ซึ่งแสดงถึงความเก่งของพระเกจิอาจารย์ ที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องราง และถ้าเป็นเรื่องหนุมาน แล้วก็คงไม่มีใครเกิน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี  หลวงพ่อสุ่น มีนามเดิมว่า สุ่น นามสกุล ปานกล่ำ ท่านเป็นชาวนนทบุรี มีฉายาว่า "จันทโชติก" หนุมานของท่านมีพุทธคุณเด่นทางด้านเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด 


 
0...ในสมัยที่ท่านยังเป็นพระลูกวัด ท่านได้นำไม้สองชนิดคือ ต้นรักซ้อน  และ ต้นพุดซ้อน มาปลูกไว้ในบริเวณวัด ท่านได้ทำน้ำมนต์รดอยู่ทุกวัน จนกระทั่งท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลากุน และต้นไม้ทั้งสองนั้นโตได้ที่ และได้ฤกษ์งามยามดี ท่านจึงลงมือขุด โดยทำพิธีพลีก่อนขุด เมื่อขุดขึ้นมาทำความสะอาดแล้ว ท่านก็นำไปตากให้แห้งสนิท เมื่อได้ที่แล้วท่านก็ให้ช่างฝีมือแกะสลักหนุมานขึ้นมา 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าโขน ช่างได้แกะรายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วน เป็นพิมพ์มีความสวยงามมาก และพิมพ์หน้ากระบี่ไม่มีรายละเอียดมากนักแต่เป็นพิมพ์ที่มีความเรียบง่าย ส่วนที่แกะจากงาช้างนั้นจะมีหลายพิมพ์แต่จำนวนน้อยมาก  
  


0...มีเรื่องเล่าจากลูกศิษย์รุ่นเก่าๆว่า การปลุกเสกหนุมานของหลวงพ่อสุ่นมีความพิเศษมาก กล่าวคือ ก่อนที่ท่านจะลงมือทำการปลุกเสกหนุมาน ในตอนเช้าท่านจะให้ลูกศิษย์ไปตัดต้นไม้ที่มีหนามมาเช่น ต้นมะขามเทศ ต้นพุทธา ในช่วงค่ำท่านก็จะทำวัตรกับพระลูกวัดตามปกติ หลังจากที่ท่านทำวัตรเสร็จเเล้ว ท่านก็จะเข้าไปในกุฎิประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นท่านก็จะอุ้มบาตรออกมา และเรียกลูกศิษย์ให้อุ้มบาตรตามเข้าไปในโบสถ์และกำชับลูกศิษย์ว่าห้ามเปิดบาตรเด็ดขาด จากนั้นท่านก็จะกลับมานั่งวิปัสสนาอีกครั้ง 


 
0... เมื่อท่านนั่งวิปัสสนาเสร็จ  ท่านจะนั่งหันหลังให้พระประธาน และนำบาตรมาตั้งไว้ตรงหน้า ให้ลูกศิษย์นำกิ่งไม้หนามที่เตรียมไว้มาล้อมที่ตัวท่านให้แน่นรอบตัว และให้ลูกศิษย์ออกจากโบสถ์ไปรอภายนอก พร้อมกับกำชับว่าห้ามผู้ใดเข้าออก  ว่ากันว่าระหว่างที่ท่านกำลังปลุกเสกหนุมานจะกระโดดอยู่ภายในบาตร และเมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว ท่านจะเรียกลูกศิษย์ให้เข้าไปในโบสถ์ เพื่อเก็บหนุมานที่ท่านปลุกเสกเสร็จแล้วและโดดออกมาติดอยู่กับกิ่งไม้หนามที่ล้อมตัวท่าน ตัวไหนที่หล่นอยู่กับพื้นให้เเยกไว้ต่างหาก ท่านว่ายังใช้การไม่ได้เพราะปลุกไม่ขึ้น ทุกคนประหลาดใจที่หนุมานขึ้นไปติดกับกิ่งไม้หนามได้อย่างไร ที่สำคัญท่านออกมาจากกองกิ่งไม้หนามที่ล้อมตัวท่านจนแน่นได้อย่างไร   

 


 
0...หลักพิจารณาดูหนุมานเนื้อไม้นั้น  ให้พิจารณาดูจากความแห้งของเนื้อไม้ และหนุมานทุกองค์จะเบา ไม่มีน้ำหนัก จากความเก่าเกือบร้อยปี สำหรับเนื้องาช้างนั้นให้ดูจากความเก่ารอยแตกเป็นธรรมชาติ และรายละเอียดของการแกะแบบฝีมือช่างโบราณ เพราะเนื้องาเมื่อนานเข้าจะเหลืองฉ่ำโดยธรรมชาติทั่วทั้งองค์ ไม่ใช่ดำจากการทอดน้ำมัน งานั้นถ้าผ่านการสัมผัสจะฉ่ำมัน สีดูใสและเข้มกว่าส่วนที่ไม่ผ่านการสัมผัส และตำหนิสุดท้ายก็คือที่ใต้ฐานของหนุมาน ซึ่งหลวงพ่อสุ่นท่านจารยันต์เอาไว้ รอยจารอาจจะมองได้ไม่ค่อยชัดเจนมากแต่ยังปรากฎอยู่ครับ 
 
0...หลวงพ่อสุ่น เป็นสหธรรมิกของ หลวงพ่อกลิ่น วัดสะพานสูง โดยมีอายุมากกว่าหลวงพ่อกลิ่นประมาณ 5 ปี ท่านละสังขาลประมาณปีพ.ศ.2482 ในวันประชุมเพลิงหลวงพ่อสุ่นเมื่อ พ.ศ.2489นั้น หลวงพ่อกลิ่นมาเป็นเจ้าภาพด้วยตัวเอง 
จากกันด้วยคาถาการบูชาหนุมาน ให้ตั้ง นะโม 3 จบ พร้อมว่าคาถากำกับหนุมาน "นะมัง เพลิง โมมัง ปากกระบอก ยะ มิให้ออก อุดธังโธอุด ธังอัด อะสังวิสุ โรปุสะพูพะ มะอะอุ โอมยะพุทธา ทะโยสตรี สตรี นิสังโห" และคาถากำกับหนุมาน ตั้งนะโม 3 จบ เเล้วกล่าวว่า “โอม หะนุมานะ นะอย่าทำนะ” 

 

เขียน:นายกองตรีอ้วน [email protected]