คนไร้บ้าน

สสส.หนุนลดภาระพึ่งพารัฐช่วย “คนไร้บ้าน” มีงานทำ ผลวิจัยชัดพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านหน้าใหม่ภายใน 1 ปี ให้พึ่งพิงตนเองยิ่งเร็วยิ่งกลับสู่สังคมง่าย ระบุไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและศักยภาพแรงงาน 116 ล้านบาทต่อปี แถมแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหากไม่แก้ปัญหา
 


เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ที่โรงแรมเอทัส ลุมพินี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีภาครัฐและภาคประชาสังคม จัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ "หน้าใหม่ - ไร้บ้าน: ชีวิตกับนโยบาย" เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนโยบายสวัสดิการสังคมทีเหมาะสมกับคนไร้บ้าน/คนไร้ที่พึ่ง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยรวมของประเทศ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ในประเทศไทยมีการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านด้วยวิธีวิทยา ใน 3 เมืองใหญ่ของประเทศ พบจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ 1,307 คน เทศบาลนครขอนแก่น จำนวน 136 คน และเทศบาลนครเชียงใหม่ จำนวน 75 คน โดยสัดส่วนเพศชายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 85 และเพศหญิงประมาณร้อยละ 15 สำหรับเหตุปัจจัยที่ทำให้กลายมาเป็นคนไร้บ้านก็แตกต่างกันไป ทั้งจากแรงผลักดันส่วนบุคคล เช่น พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิต การติดสุรา ความเปราะบางของสถาบันครอบครัว ความผิดหวังจากการทำงาน ภาวะตกงานเรื้อรัง อย่างไรก็ตามการศึกษาในหลายประเทศได้ชี้ให้เห็นว่า ‘คนไร้บ้าน’ มีสาเหตุความเป็นมาจาก “ความเหลื่อมล้ำ” ทางเศรษฐกิจ และสังคม

 

นางภรณี กล่าวต่อว่า ความเหลื่อมล้ำทางเชิงโครงสร้างและนโยบาย ทำให้คนไร้บ้านกว่าร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ร้อยละ 51 มีปัญหาสุขภาพจิต และสุขภาพช่องปากเท่ากัน ร้อยละ 70 ทั้งนี้พบว่า ร้อยละ 35 ของคนไร้บ้าน หรือ 450 คน  เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ทางออกหรือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพของคนไร้บ้านจำเป็นต้องสร้างกลไกเฉพาะสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน รวมทั้งคนอื่นๆ ในผืนแผ่นดินไทยที่เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ด้วยปัญหาทางสถานะบุคคลหรือการมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยสสส. จะร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน และเสริมพลังเครือข่าย ขับเคลื่อนให้เกิดกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยไร้สิทธิ และการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ในการป้องกันการเกิดคนไร้บ้านรายใหม่ และช่วยเหลือฟื้นฟูให้คนไร้บ้านสามารถช่วยเหลือตนเอง และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ

 

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น กล่าวว่า "โครงการนี้เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิต ความต้องการ และแนวทางแก้ปัญหาสำหรับคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เพิ่งไร้บ้านมาไม่เกิน 5 ปี เนื่องจากคนไร้บ้านหน้าใหม่มีโอกาสได้รับการเพิ่มศักยภาพเพื่อคืนกลับสู่สังคมได้ง่ายกว่าคนไร้บ้านที่อยู่มานาน และหากดำเนินการได้รวดเร็วก็จะสามารถช่วยให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการดูแลคนเหล่านี้ในระยะยาวได้

ผศ.ดร.ธานี  กล่าวต่อว่า จากการศึกษาพบว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่ มีความต้องการการมีงานทำเป็นสำคัญ และพวกเขาต้องการที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐหรือคนอื่น เพราะคนกลุ่มนี้ยังมีความตั้งใจที่จะกลับไปใช้ชีวิตดังเช่นคนปกติทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากคนไร้บ้านที่อยู่มานานแล้ว เนื่องจากเกิดการปรับตัวให้อยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีบ้านและไม่จำเป็นต้องมีงาน แต่พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพิงภาครัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น แนวนโยบายสำหรับคนไร้บ้านหน้าใหม่ก็คือ การพัฒนาศักยภาพและการหางานทำให้กับคนกลุ่มนี้อย่างมั่นคงและภายใน 1 ปีมีความสำคัญมาก ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและผลิตภาพอย่างน้อย 116 ล้านบาทต่อปี (คิดบนฐานคนไร้บ้านในเขต กทม.) หากไม่ดูแลและฟื้นฟูคนไร้บ้านอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างระบบการป้องกันภาวะความเสี่ยงจากการไร้บ้านและการดูแลคนไร้บ้านหน้าใหม่ ซึ่งการสูญเสียโอกาสดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจำนวนประชากรคนไร้บ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี หากเป็นคนไร้บ้านกลุ่มที่มีศักยภาพไม่มากทั้งที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังทั้งทางกายและทางจิตจนไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ นโยบายการดูแลจากภาครัฐก็ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่

ด้าน นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ สสส. กล่าวว่า การจัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ "หน้าใหม่ - ไร้บ้าน: ชีวิตกับนโยบาย" ในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาจากโครงการศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น อันเป็นโครงการย่อยของแผนงานฯ ที่มีการวางเป้าหมายในการเริ่มโครงการที่จะมุ่งเน้นการหาคานงัดของนโยบายและรูปแบบทางนโยบายที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านแต่ละกลุ่มเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้เห็นถึงต้นทุนของสังคมและภาครัฐที่ต้องสูญเสียไปหากไม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน/คนไร้ที่พึ่งอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ