สวพ.ทบ. แถลง โครงการวิจัยและพัฒนาการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ต.ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบก (สวพ.ทบ.) ได้แถลงต่อสื่อมวลชน กรณี โครงการวิจัยและพัฒนาการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร ในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. โครงการวิจัยและพัฒนาการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารเพื่อใช้ภายในประเทศเป็นโครงการตาม เอ็มโอยู ระหว่าง ทบ. โดย สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบก สวพ.ทบ. กับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อพัฒนาและสนับสนุนนักวิจัยจาก สถาบันการศึกษารวมถึง เป็นการนำผลการวิจัยไปสู่การผลิตแบบพึ่งพาตนเองในประเทศ ประหยัดงบประมาณ


2. ในระหว่างการวิจัย ทางรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้นำผลการวิจัยไปสู่การผลิตชิ้นงาน สนับสนุนนโยบายการใช้ยางพาราภายในประเทศ ทบ. ได้ดำเนินกรรมวิธี นำผลงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตตามขั้นตอนของทางราชการ โดยมีกระบวนการวิเคราะห์ ประเมินผลโครงการวิจัย ซึ่งเป็นการประเมินผลทั้งทางด้านเอกสารรายงานและผลงานวิจัยที่ได้รับ ตลอดจนการทดสอบโดยคณะกรรมการต่าง ๆ ของกองทัพบก จนถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกองทัพบกและได้รับอนุมัติให้นำผลงานวิจัยนั้นไปผลิต ทั้งนี้โครงการวิจัยไม่ว่าจะได้ทุนจากแหล่งทุนใด หากจะนำมาผลิตเพื่อใช้งานในกองทัพบกก็จะต้องดำเนินการตามแนวทางนี้ โครงการหน้ากากป้องกันสารพิษฯ เมื่อได้ปิดโครงการกับ สกอ.แล้ว ก็เข้าสู่การดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว


ในระหว่างกระบวนการวิเคราะห์และประเมินผลโครงการคณะนักวิจัยได้นำส่ง เอกสารรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ให้ สวพ.ทบ. พิจารณา และส่งให้คณะกรรมการระดับ ทบ. ทำการประเมินผลงานวิจัย ภายหลังปรากฏว่าใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์หน้ากากแบบเต็มหน้า เป็นเอกสารปลอม กองทัพบกจึงได้ยุติโครงการและได้มอบอำนาจให้ ผอ.สวพ.ทบ. ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับงานวิจัยของ ทบ. โดยตรง ไปแจ้งความร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวนที่กองปราบปรามไว้ก่อนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป รวมทั้งเป็นการป้องกันผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับการนำไปใช้งานทางราชการ หากมีการนำเข้าสู่กระบวนการผลิตในลำดับขั้นต่อไป ที่สำคัญเป็นการยับยั้งมิให้เอกสารที่เป็นเท็จไปสู่กระบวนการบริหารงานราชการ


- การอ้างถึงว่ารายงานตอนไปขอปิดโครงการฯ กับ สกอ.ระบุเป็นเรื่องหน้ากากชีวอนามัย ไม่เกี่ยวกับหน้ากากด้านทหารเลยนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเงื่อนไขข้อกำหนดในการวิจัยครั้งนี้ ระบุให้ผู้วิจัยต้องดำเนินงานวิจัยที่มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของ ทบ. เท่านั้น


- สำหรับ กรณีกล่าวหาว่า จนท.ทหาร แทรกใบรับรองมาตรฐานปลอมเข้ามาในเอกสารงานวิจัยฉบับสมบูรณ์นั้น จากการตรวจสอบขอเรียนว่า มีการยื่นใบรับรองมาตรฐาน จำนวน 4 ครั้ง โดย หัวหน้าโครงการวิจัย โดยเป็นการยื่นใบรับรองมาตรฐานปลอมทั้ง 4 ครั้ง


- อย่างไรก็ตาม สวพ.ทบ. ในฐานะที่เป็นหน่วยดูแลด้านการวิจัยและพัฒนากองทัพบก ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก ทบ. จำเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความกระจ่างในทุกแง่มุมที่สังคมสงสัย และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพและมาตรฐานของงานวิจัยที่จะนำไปใช้ในการผลิตเครื่องมือ และยุทโธปกรณ์ทางทหารของกองทัพบกต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ