ชุมชนมุสลิม “บ้านคลองเคียน” คิดค้น “นวัตกรรมสุขภาพ”



ชุมชนคลองเคียน หมู่ที่ 1 บ้านคลองเคียน ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เป็นชุมชนมุสลิมที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง ในจำนวนประชากร 1,061คน มีผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป 113 คน ส่วนใหญ่สามารถดูแลตนเองได้ มีเพียงไม่กี่รายที่เป็นกลุ่มติดบ้านและติดเตียง

 จากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพของผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุมีความเจ็บป่วยและมีปัญหาสุขภาพโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด รองลงมาคืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และไขมันในเส้นเลือด นอกจากนี้ยังพบปัญหาโรคอ้วนที่เป็นผลมาจากการบริโภคและการออกกำลังกาย

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวชุมชนตระหนักว่าผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้นหลังจากตรากตรำทำงานมาตลอดชีวิต จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “ชมรมผู้สูงอายุบ้านคลองเคียน” เมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และดำเนินโครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน หมู่ 1 บ้านคลองเคียน” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 สุนีย์ นันทบุตร แกนนำในการขับเคลื่อนโครงการ เล่าว่าชมรมผู้สูงอายุบ้านคลองเคียน แยกมาจากชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลคลองเคียน เพื่อให้การดำเนินงานมีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากขึ้น ตามแนวคิด “น้องดูแลพี่” สมาชิกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าช่วยดูแลผู้ที่อาวุโสมากกว่า โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ช่วยเหลือดูแลและชักชวนผู้สูงอายุออกมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพด้วยกัน ขณะเดียวกันมีเครือข่ายให้การสนับสนุน ประกอบด้วยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

 

นอกจากดำเนินกิจกรรมตรวจคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุแล้ว สิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ออกจากบ้านมาทำกิจกรรมด้วยกัน คือ การออกกำลังกายต่อเนื่อง ผ่านการละหมาด เป็นกิจกรรมที่ร่วมกันทำต่อเนื่องในมัสยิด 8 วัน เรียกกันว่า“ละหมาด 40” โดยใช้ท่าทางจากการละหมาดเป็นท่าออกกำลังกายไปในตัว ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุอย่างมาก เพราะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

 “แต่ก่อนผู้สูงอายุจะไม่ค่อยออกจากบ้าน พอมีกิจกรรมกลุ่มผู้สูงอายุก็จะบอกต่อๆกัน มีการรวมตัวกันออกกำลังกายด้วยไม้พลอง การออกกำลังกายด้วยท่ายืดเหยียดฤาษีดัดตนเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย การทำสมุนไพรประคบร่วมกัน ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น ปลูกต้นมะพร้าว ทำความสะอาดมัสยิดสัปดาห์ละครั้ง ปัจจุบันนี้ทำให้กลุ่มผู้หญิงไปละหมาดที่มัสยิดมีจำนวนมากขึ้น” แกนนำผู้ขับเคลื่อนโครงการ กล่าว

 

 ทางด้าน ไพศาล วารีศรี ผู้สูงอายุวัย 69 ปี สมาชิกและที่ปรึกษาชมรมผู้สูงอายุ กล่าวว่าหลักคิดการละหมาดคือการให้รู้จักเวลาและหน้าที่ ข้อปฏิบัติทางศาสนาสัมพันธ์กับเรื่องการดูแลสุขภาพ ผู้ที่ละหมาดจะต้องทำความสะอาดร่างกายก่อน ท่าทางแต่ละท่าตั้งแต่ยืน นั่งคุกเข่า ก้ม เป็นการยืดเหยียดออกกำลังกาย ขณะเดียวกันการสวดมนต์ การทำสมาธิอยู่เป็นประจำ จะทำให้ผู้นั้นมีสุขภาพจิตดี มีความสุข กิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุที่พยามเน้นย้ำคือ กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา เล่นกีฬาเป็นประจำ ค่ำไปมัสยิด ช่วยกิจกรรมชุมชน

“ตามความเชื่อทางศาสนา การละหมาด 40 จะทำให้ได้บุญกุศลมาก ปกติก็จะละหมาดวันละ 5 ครั้งแต่เป็นการทำส่วนบุคคล การมาละหมาดร่วมกันในมัสยิด 8 วันติดต่อกัน ทำให้สมาชิกชุมชนได้ออกมาพบปะและรู้จักกันมากขึ้น และใช้โอกาสนี้มาออกกำลังกายร่วมกัน จะเห็นว่าแต่ละท่าของการละหมาดมีการยืดเหยียดก้ม อย่างการนั่งคุกเข่า การก้มหน้าผากถึงพื้นถ้าเป็นคนอ้วนจะทำไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ” ที่ปรึกษาชมรมผู้สูงอายุบ้านคลองเคียน ขยายความการละหมาด 40 ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ

 ขณะที่ เยาวภา อินทแย้ม ผู้อำนวยการ รพ.สต.คลองเคียน กล่าวว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลคลองเคียน มีบทบาทในการสนับสนุนด้านวิชาการ เชื่อมโยงกิจกรรมกับชมรมผู้สูงอายุของตำบล สอดประสานกับภาคีเครือข่าย สร้างความร่วมมือ ทั้งสภาผู้นำ อบต. กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความยั่งยืนต่อเนื่อง เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในชุมชน

“ทางเราจะสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ สร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุว่ากิจกรรมที่ดำเนินการเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ให้แนวทางต่อ อสม.ในการลงพื้นที่ การดูแลผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาการดำเนินงานมีแนวโน้มประสบผลสำเร็จ เครือข่ายต่างๆเหนียวแน่นเกิดความร่วมมือดี”

จากการดำเนินงานเบื้องต้นทำให้เกิดแกนนำชมรมผู้สูงอายุ จากหลายส่วนเกิดความเข้าใจการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุมากขึ้น สมาชิกผู้สูงอายุเกิดความพึงพอใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม ทั้งด้านอาหารและการออกกำลังกาย มีผู้สูงอายุที่พึ่งพาคนอื่นเป็นผู้ป่วยติดเตียงเพียง 2 คนเท่านั้น ขณะเดียวกันก็เตรียมรับสมาชิกอายุตั้งแต่ 55 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีกด้วย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ