ก.วิทย์ฯ-สวทช. ผนึก กรมวิชาการเกษตร เมียนมาร์ สร้างเครือข่ายนักวิจัย พัฒนาพันธุ์ข้าวลุ่มน้ำโขง

(5 มีนาคม 2561) ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ : ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ นาย Naing Kyi Win อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (Director General, Department of Agricultural Research, DAR) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัย เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนา สร้างขีดความสามารถ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรของ 2 หน่วยงาน สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการความร่วมมือของ สวทช. กับประชาคมลุ่มน้ำโขงในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและด้านจีโนม ในการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

 

โดยมี ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืช ไบโอเทค สวทช.และ นาย Thant Lwin Oo รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เมียนมาร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากประเทศสมาชิกของอาเซียนยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการก้าวไปสู่ตลาดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดังนั้นสวทช. โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2544 เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงส่งเสริมการสร้างเครือข่ายนักวิจัยในภูมิภาค เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของภูมิภาคอาเซียนในปี 2563 ที่ต้องการขับเคลื่อนการแข่งขันทางเทคโนโลยี ทั้งในเชิงกลยุทธ์ และการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ เพื่อเสริมขีดความสามารถของประเทศเพื่อนบ้านให้ก้าวหน้าและเติบโตไปด้วยกัน 


“โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการที่ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ผลักดันให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของภูมิภาค และช่วยสร้างความสามารถทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้กับภูมิภาคอาเซียน โดยการให้ทุนสำหรับนักวิจัยเพื่อทำวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยของไบโอเทค สวทช. เป็นเวลา 3-6 เดือน หลักสูตรฝึกอบรมเน้นการให้ความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีชีวภาพและการปฏิบัติจริง โดยมีนักวิจัยพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในการทำโครงการวิจัยกว่า 16 ปี มีนักวิจัยชาวต่างชาติได้ทุน 179 ทุน โดยจำนวนหนึ่งได้ทุนการศึกษาขั้นสูงเรียนต่อในประเทศต่างๆ นอกจากนั้นแล้วนักวิจัยที่จบการศึกษาแล้วกลับไปทำงานที่สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต้นสังกัดในประเทศต่างๆ ยังสร้างความร่วมมือใหม่ๆ กับนักวิจัยไบโอเทค สวทช. อย่างต่อเนื่อง” 


ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวผ่านการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีการปฏิบัติงาน  ระยะยาวโดยใช้โจทย์วิจัยของแต่ละประเทศเป็นหัวข้อในการฝึกอบรม การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ทดสอบลักษณะสำคัญทางการเกษตรต่างๆ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวและได้รับการรับรองพันธุ์แล้ว จำนวน 3 พันธุ์ คือ 1.พันธุ์ตูก้าหมุย (ThuKha Hmwe) ได้จากการปรับปรุงพันธุ์มานอวตูก้า (Manawthukha) ให้มีคุณภาพการหุงต้มคล้ายพันธุ์บาสมาติ (Basmati) 2.พันธุ์ซ้อลท์ทอลซินทัวแลต (Saltol Sin Thwe Latt) ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ซินทัวแลต (Sin Thwe Latt) ให้ทนเค็ม และ 3.พันธุ์เย็มโยคคาน (Yemyokekhan-3) เป็นข้าวที่มีการปรับตัวต่อสภาพน้ำมากและน้ำน้อยได้ดี ให้มีความหอม และคุณภาพการหุงต้มที่ดีขึ้น


โดยปี 2560 ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ ประมาณ 2 ตัน เพื่อกระจายให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งการพัฒนาบุคลากรและการวิจัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนร่วมกัน


สำหรับความสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัยของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ อาทิ ความร่วมมือในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีผลผลิตสูง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดให้ต้านทานโรคและมีคุณภาพดี การปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีให้ต้านทานโรค โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือก (Marker Assisted Selection: MAS) เป็นต้น จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป


ด้าน นาย Naing Kyi Win อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า ด้วยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เป็นประเทศพื้นฐานด้านเกษตรกรรม จึงต้องการความช่วยเหลือ การส่งเสริม สนับสนุน และความร่วมมือทางด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์พืช ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรได้
ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์และประเทศไทยมีความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เด่นชัดมากขึ้นในภูมิภาคนี้ และเพื่อให้เกิดการขยายตัวในเรื่องการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยคำนึงการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นการแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศต้องเร่งเพิ่มการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็งอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันในระดับสากล 


อธิบดีกรมวิชการเกษตร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัยครั้งนี้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการสร้างความสามารถของบุคลากรวิจัย (การฝึกอบรมระยะสั้นและระยาวสำหรับบุคลากรระดับปริญาโทและปริญญาเอก) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์พืช อีกทั้งเพื่อสร้างกรอบการทำงานและความร่วมมือในการเก็บรวบรวมและประเมินเชื้อพันธุกรรมของข้าว ข้าวโพด และพืชอื่นๆ โดยอาศัยการจำแนกสายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีฟีโนไทป์และจีโนไทป์ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกันในเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการวิจัยและนวัตกรรมของทั้งสองประเทศ หรือโครงการต่างๆ ที่มีแผนว่าจะจัดทำขึ้นต่อไปในอนาคต