ก.วิทย์ฯ-สวทช. จับมือ NARO ประเทศญี่ปุ่น เสริมสร้างความยั่งยืนด้านเกษตรและอาหาร

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอุปทูตเชิดชาย ไช้ไววิทย์ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และ National Agriculture and Food Research Organization (NARO) ประเทศญี่ปุ่น โดย Dr. Akihiro Sasaki รองประธานที่ปรึกษาอาวุโส NARO เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนของทั้ง 2 ประเทศ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็นครัวของโลก แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทั้งคุณภาพและปริมาณลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด การปรับปรุงพันธุ์พืชตามวิธีการดั้งเดิมนั้นใช้ระยะเวลานานและแรงงานสูงในการพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะตามต้องการ ดังนั้น การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืช จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถปรับปรุงลักษณะที่ต้องการในพืชได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยไทยและประเทศญี่ปุ่นที่จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเกษตรและอาหารของทั้ง 2 ประเทศ โดยการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่ผ่านมาของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัย เพื่อร่วมกันพัฒนาความยั่งยืนด้านอาหารและการเกษตรต่อไป”



ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ NARO ในครั้งนี้ครอบคลุมงานวิจัยในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านพืช สัตว์ อาหาร เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนำร่องจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องพืชเป็นอันดับแรก โดยจะจัดทำโครงการวิจัยร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัย เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการปรับแต่งจีโนมในพืชกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กล้วยไม้ ให้มีประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงการจัดการประชุมวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยเชิญนักวิจัยหลักจาก NARO มาเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ (keynote speaker) รวมถึงการจัดสมาคม (Consortium) เพื่อประเมินความก้าวหน้าของงานปรับแต่งจีโนมในประเทศไทยโดยมี สวทช. เป็นศูนย์กลาง”

“โครงการความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงสามารถนำกระบวนการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับพืชอื่นๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเทคนิคในการศึกษาตำแหน่ง หน้าที่ และกลไกการทำงานของยีนเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ เพื่อยกระดับการปรับปรุงพันธุ์พืชแนวอณูวิธี หรือMolecular breeding (คือเป็นการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของหน่วยพันธุกรรมในระดับโมเลกุล) ใช้องค์ความรู้ด้านลำดับเบสจีโนมที่เกี่ยวข้องโดยการใช้เทคนิคที่เรียกว่าโมเลกุลเครื่องหมาย (Marker-Assisted Selection : MAS) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงองค์ความรู้และผลงานที่ได้จากงานวิจัยนี้ สามารถต่อยอดและออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ