ขุมทรัพย์จากกอง “ขยะ” สร้างรายได้สู่บ้านโพธนาราม



ปริมาณขยะในชุมชนที่สูงพรวดอย่างน่าตกใจในปี 2558 จากค่าเฉลี่ยปี 2557 สร้างขยะคนละ 0.5 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน พอปี 2558 ตัวเลขกลับดีดขึ้นไปถึง 1.5 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซ้ำยังกำจัดแบบไม่ถูกวิธี มีทั้งการเทกอง เผาในที่โล่ง และลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ สร้างปัญหาให้กับชาวบ้านโพธนาราม หมู่ 8 ต.สันทราย อ.แม่จัน จ.เชียงราย อย่างหนัก

พวกเขาจึงต้องช่วยกันหาทางแก้ไข และต้องเป็นทางออกที่ทุกๆ ครอบครัวต้องยิมยอมพร้อมใจด้วย

ศุภกิจ นวนพนัส ผู้ใหญ่บ้านโพธนาราม เล่าว่า ประชากร 231 หลังคาเรือน 785 คน แต่เกิดขยะถึงวันละ 1 ตันเศษ หากไม่เร่งหาวิธีบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อม การกำจัดไม่ถูกวิธีที่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขยะล้นชุมชนตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งหมายถึงผลกระทบด้านสุขภาวะ กองทัพแมลงวัน กลิ่นเน่าเหม็น รวมไปถึงมลภาวะทางดิน และน้ำ

เมื่อหารือกับกลุ่มแกนนำชุมชนแล้ว จึงได้ทำ “โครงการการจัดการขยะในชุมชน หมู่บ้านโพธนาราม” โดยขอรับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้คนในชุมชนรู้จักการคัดแยกและจัดการขยะอย่างเหมาะสม

 

“เราตั้งคณะทำงานที่มาจากตัวแทนของแต่ละคุ้ม ตัวแทนชุมชน และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหมด 12 คน จากนั้นให้คณะทำงานจัดเก็บข้อมูล สำรวจสถานการณ์ปัญหา ปริมาณ ชนิดของกองขยะ ทั้งก่อนและหลังดำเนินการเพื่อใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบ มีการประชุมและร่างระเบียบกติกา ในรูปแบบของธนาคารขยะรีไซเคิลบ้านโพธนาราม อบรมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ นำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมัก ขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วนำมาทำแจกันดอกไม้ หรือโคมไฟ เพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นรายได้เสริมของคนในชุมชน” ผู้ใหญ่บ้านโพธนาราม กล่าว

ที่สำคัญคือชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ อย่างน้อย 4 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป และขยะอันตราย ซึ่งเริ่มต้นชาวบ้านบางคนไม่มั่นใจว่าจะทำได้ คณะทำงานจึงต้องทำเป็นต้นแบบให้เห็นก่อน จนในที่สุดก็ขยายผลไปสู่ชาวบ้านทุกครัวเรือนได้ และคณะทำงานก็ติดตามการจัดการขยะของครัวเรือน พร้อมทั้งคืนข้อมูลทุกเดือน

นอกจากนี้ ยังมีการนำภูมิปัญญาและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการขยะอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นเสวียนแบบต่างๆ หรือ ถังกรีนโคน (Green Cone) สำหรับย่อยสลายขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ที่ใช้วัสดุแค่ถังน้ำสีดำ กับตะกร้าผ้า นำมาประกอบกัน และสามารถโยกย้ายได้ง่ายๆ โดยฝังตะกร้าที่บรรจุขยะอินทรีย์ลงในดิน ให้ถังน้ำสีดำควบปิดด้านบนไว้ แล้วอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยย่อยสลาย ความร้อนและอากาศภายในที่หมุนเวียน จะทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดี ขณะเดียวกันการย่อยสลายในดินก็ป้องกันกลิ่นและแมลงวันรบกวน

คำจันทร์ ก้อนแก้ว หนึ่งในแกนนำ เล่าว่า ผลจากการที่ชาวบ้านคัดแยกขยะขาย และประดิษฐ์ดอกไม้จากพลาสติกรีไซเคิล ทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มประมาณเดือนละ 120 บาท หรือทั้งหมู่บ้าน มี 231 ครัวเรือน คิดเป็นรายได้เข้าชุมชน 27,720 บาทต่อเดือน

 คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตื่นเช้าไปจ่ายตลาด ก็หิ้วตะกร้า หรือถุงผ้า แทนถุงพลาสติก ขยะที่ถูกแยกส่วนก็นำไปใช้ประโยชน์ได้ เหลือแค่ขยะอันตรายที่เทศบาลต้องจัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี ส่งผลให้ปริมาณขยะก็ลดลง จากเฉลี่ยคนละ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน เหลือคนละ 0.4 กิโลกรัมต่อวัน

 

ทุกวันนี้บ้านโพธนารามกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ในการจัดการขยะ มีคณะผู้สนใจเข้ามาดูงานมากกว่า 200 คณะ สร้างความภาคภูมิใจให้กับแกนนำและชาวบ้านเป็นอย่างมาก และเหนือสิ่งอื่นใดคือสิ่งแวดล้อมในชุมชนสะอาดตาอย่างเห็นได้ชัด