ฉัตรชัย ชู “โรงเรียนผู้สูงอายุ” กลไกยกระดับคุณภาพชีวิต

รองนายกฯ ชู “โรงเรียนผู้สูงอายุ” กลไกยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเป็นพลังของสังคม มีคุณค่า ไม่ถูกลืม ตั้งเป้าผุดโรงเรียนผู้สูงอายุ 2,600 แห่งทั่วประเทศภายใน 3 ปี สั่งทบทวนแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ให้ทันสมัยรับสังคมผู้สูงอายุ สสส.ลุยต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทั้งในชุมชนท้องถิ่นและชุมชนเขตเมืองกว่า 300 แห่ง

 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : โรงเรียนผู้สูงอายุและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ โดยพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม และกล่าวปาถกฐา “นโยบายพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ” โดยมีแกนนำผู้สูงอายุ ผู้รับผิดชอบโรงเรียนผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และพื้นที่ที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ 55 ชุมชน กว่า 200 คน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการ เพื่อรองรับสถานการณ์สังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ สำหรับ “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ที่มีการดำเนินการในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 1,100 แห่ง เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพแกนนำผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่ทำกิจกรรม เกิดการพึ่งพาตนเอง สามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้ ที่สำคัญคือช่วยลดภาวะการกลายเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง รวมถึงลดภาระการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวด้วย ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความร่วมแรงร่วมใจจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม

 

ทั้งในส่วนของกรมกิจการผู้สูงอายุ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สสส. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิด “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ในพื้นที่ต่างๆ 2,600 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนั้นได้สั่งการให้มีการทบทวนแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของผู้สูงอายุ และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะเป็นการปรับแผนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้สูงอายุ โดยเร็วๆนี้ตนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ พม. ร่วมหารือและกำหนดเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุร่วมกัน

ด้าน ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และมีอัตราการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในปี 2559 มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60ปีขึ้นไป จำนวน 10.9 ล้านคน  คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่ากว่าร้อยละ 87.4 ในช่วงอายุ 60-69 ปี ที่ดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ถือเป็นกำลังสำคัญของสังคม สามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้ สสส. จึงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ลดการพึ่งพิง เสริมการทำงานของภาครัฐ ภายใต้หลักสูตรการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุในประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ เช่น การดูแลสุขภาพร่างกาย สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ประเด็นที่ควรรู้ เช่น การใช้เทคโนโลยี และประเด็นที่อยากรู้ เช่น กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ดนตรี เป็นต้น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังของสังคม และเกิดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตอย่างแท้จริง

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุที่เป็นตัวอย่างที่ดีกับพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงาน รวมถึงนำเสนอรูปแบบกิจกรรมที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนผู้สูงอายุได้ เช่น กิจกรรมทางกาย โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมดนตรี และนันทนาการ ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับภาคนโยบาย และการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน กว่า 300 แห่ง”ดร.สุปรีดากล่าว

 

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า การศึกษาวิจัย เรื่อง “การถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนและชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้” โดย ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์  ยอดเพชร และคณะ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็น ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพหรือมีภาวะพฤฒิพลัง (Active Aging) เพื่อเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงอายุของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาคลอบคลุมบริบททั้ง กาย จิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ปัญญา และความสุข อย่างไรก็ตามพบว่าปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุจำนวนมากทั่วประเทศ ที่มีความหลากหลายทั้งสถานที่ รูปแบบ และวิธีการ ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่และความต้องการของผู้สูงอายุในแต่และแห่ง โดยเริ่มจากกระบวนการศึกษา ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จ และนำมาต่อยอดดำเนินงาน เพื่อพัฒนาเป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุที่เหมาะสมต่อไป