“เด็กไทยในยุค ไทยแลนด์ 4.0”



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน  เรื่อง “เด็กไทยในยุค ไทยแลนด์ 4.0” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 10 มกราคม 2561 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเด็กไทยในยุค ไทยแลนด์ 4.0 การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกินร้อยละ 1.4    

จากการสำรวจเมื่อถามถึงอาชีพในฝันที่เด็กและเยาวชนอยากเป็น ในยุคไทยแลนด์ 4.0 (5 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 20.62 ระบุว่าเป็น อาชีพส่วนตัว / อิสระ รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 11.34 ระบุว่าเป็น อาชีพครู/อาจารย์ อันดับ 3 ร้อยละ 9.28 ระบุว่าเป็น อาชีพแพทย์/พยาบาล รับราชการทหาร และวิศวกร/สถาปนิก/นักออกแบบดีไซน์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 4 ร้อยละ 7.22 ระบุว่าเป็น อาชีพตำรวจ และนักธุรกิจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และอันดับ 5 ร้อยละ 5.15 ระบุว่าเป็น อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) และนักบัญชี/การเงิน/ธนาคาร/การตลาด ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับอาชีพที่ผู้ปกครองอยากให้บุตรหลานเป็น ในยุคไทยแลนด์ 4.0 (5 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 21.25 ระบุว่าเป็น อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 16.39 ระบุว่าเป็น อาชีพแพทย์/พยาบาล อันดับ 3 ร้อยละ 11.36  ระบุว่าเป็น อาชีพส่วนตัว / อิสระ อันดับ 4 ร้อยละ 9.71 ระบุว่าเป็น อาชีพครู/อาจารย์ และอันดับ 5 ร้อยละ 6.42 ระบุว่าเป็น อาชีพรับราชการทหาร

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างของเด็กในยุคนี้เมื่อเทียบกับเด็กในสมัยก่อน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.56 ระบุว่า  เด็กในยุคนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับมือถือหรือคอมพิวเตอร์มากกว่าการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านเหมือนเด็กสมัยก่อน รองลงมา ร้อยละ 42.03 ระบุว่า เด็กในยุคนี้มีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากว่าเด็กสมัยก่อน ร้อยละ 31.47 ระบุว่า เด็กในยุคนี้ขาดการอดทนหรือรอคอย เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและรวดเร็วกว่าเด็กสมัยก่อน ร้อยละ 29.62 ระบุว่า เด็กในยุคนี้ขาดระเบียบวินัยมากกว่าเด็กสมัยก่อน ร้อยละ 23.30 ระบุว่า เด็กในยุคนี้เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้รวมถึงสื่อต่างๆ ได้ง่ายกว่าเด็กสมัยก่อน ร้อยละ 17.05 ระบุว่า  เด็กในยุคนี้มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าเด็กสมัยก่อน และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายสุด เมื่อถามถึงคุณสมบัติที่ดีของเด็กไทย ในยุคไทยแลนด์ 4.0 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.64 ระบุว่า มีคุณธรรมจริยธรรม ช่วยเหลือสังคม ไม่เห็นแก่ตัว รองลงมา ร้อยละ 35.92 ระบุว่า มีระเบียบวินัย เคารพกฏระเบียบ ร้อยละ 31.04 ระบุว่า มีความอดทน อดกลั้น      ร้อยละ 26.16 ระบุว่า รู้จักการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ ข้อมูลที่ได้รับ ร้อยละ 17.60 ระบุว่า มีทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี ร้อยละ 17.36 ระบุว่า ไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโลกอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 14.64 ระบุว่า มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ร้อยละ 13.52 ระบุว่า หมั่นศึกษา  หาข้อมูลหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเรียน ร้อยละ 2.40 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ มีความกตัญญูต่อบิดามารดา มีมารยาท อ่อนน้อมถ่อมตน รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และมีความพอเพียง ประหยัด อดออม และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ