ชัยภูมิหนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนยกระดับคุณภาพชีวิต

นายพินิจ ช่างไม้ พลังงานจังหวัดชัยภูมิ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายการสร้างต้นแบบ “ประชารัฐ” จากความร่วมมือระหว่างสำนักงานพลังงานจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และอาสาสมัครชุมชน (อส.พน.) ให้ประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ผ่านโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงาน ตามแนวทาง “เสริมพลังประชารัฐ” ของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นสำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อมและขนาดจิ๋วของชุมชน (SMCE -Small and Micro Community Enterprise) และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs - Small and Medium Enterprises ) เพื่อลด "ต้นทุนพลังงาน" ในกระบวนการผลิตของชุมชน ที่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ฟืน ถ่าน LPG  ในกระบวนการผลิต เช่น ทอด นึ่ง อบแห้ง คั่ว ต้ม กลั่น โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน เพื่อต่อยอดสู่การเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมด้านการตลาด

ทั้งนี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้เล็งเห็น ถึงความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และลดใช้พลังงานในกระบวนการผลิตให้กับชุมชน ในพื้นที่ จึงได้นำนโยบายดังกล่าวมาขยายผลในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ โดยนำร่องในการลดต้นทุนพลังงานให้กับ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าว GAP ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิต ข้าวฮางงอก และแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกผงชงดื่ม หรือผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกผงชงดื่ม โดยได้สนับสนุนเตาเศรษฐกิจประยุกต์แบบมณฑล 2 พร้อมอุปกรณ์นึ่งข้าวฮางงอก จำนวน 3 เตา มูลค่า 50,000 บาท ภายใต้งบประมาณโครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจร ในชุมชนระดับตำบล และโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก แบบพพ.3 ขนาด 8x20.8 เมตร งบประมาณโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างชุมชนกับกระทรวงพลังงาน ภายใต้งบประมาณ

จำนวน 1,190,210 บาท โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ70% หรือคิดเป็นเงิน จำนวน  833,147บาท และวิสาหกิจชุมชนสมทบ จำนวน 357,065 บาท หรือคิดเป็น 30%

“ในกระบวนนึ่งข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตผลิตรภัณฑ์ข้าวฮางงอก และข้าวกล้องงอกผงชงดื่มนั้น เดิมชุมชนจะใช้เตานึ่งแบบเตาเหล็กสามขา ซึ่งทำให้ประสบปัญหาเรื่องประสิทธิภาพพลังงานที่ต่ำ คือต้องใช้ฟืนมากถึง 116 กิโลกรัม ต่อข้าว 600 กิโลกรัม แต่ภายหลังจากเปลี่ยนมาใช้เตาเศรษฐกิจประยุกต์แบบมณฑล 2 ช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายไม้ฟืนลงได้กว่า 50% หรือใช้ฟืนเหลือเพียงเพียง 52 กิโลกรัมต่อข้าว 600 กิโลกรัม หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่ประหยัดได้ จำนวน 4,000 – 9,000 บาทต่อปี ส่วนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาะในการอบแห้งข้าวได้ครั้งละ 500 กิโลกรัม เพิ่มคุณภาพด้านความสะอาดในกระบวนการผลิต ลดการสูญเสียของวัตถุดิบข้าวเปลือก และช่วยให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นในฤดูฝนได้กว่า 30% ที่สำคัญการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนดังกล่าว สามารถลดรายจ่าย สร้างรายได้เพิ่ม และสร้างอาชีพเสริมที่มีความมั่นคง และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวจากชาวนา ซึ่งจากเดิมที่ขายข้าวเปลือกได้ 15 บาทต่อกิโลกรัม ทำเป็นข้าวสารข้าวกล้องฮางงอกได้ 50 บาทต่อกิโลกรัม และแปรรูปเป็นข้าวผงชงดื่มได้ในราคา  480 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันช่วยให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เสริมนอกภาคเกษตรเฉลี่ยเดือนละ 5,000-8,000 บาท” สร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน เกิดเป็นเศรษฐกิจพอเพียง พลังงานเพียงพอ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” พลังงานจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

พลังงานจังหวัดชัยภูมิ กล่าวเพิ่มว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าว GPA ถือเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบการใช้พลังงานทดแทนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างชัดเจน และได้รับรางวัลระดับประเทศจากการประกวด “สุดยอดคนพลังงาน ปี 2560” ในสาขาวิสาหกิจลดการใช้พลังงานยอดเยี่ยมในระดับประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นต้นแบบวิสาหกิจลดใช้พลังงานที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ